ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปลี่ยน “ห้องเรียน” เป็น “ห้องเรียนรู้” เหตุโลกเปลี่ยน การศึกษาต้องเปลี่ยน

สังคม
6 มิ.ย. 56
11:02
1,004
Logo Thai PBS
เปลี่ยน “ห้องเรียน” เป็น “ห้องเรียนรู้” เหตุโลกเปลี่ยน การศึกษาต้องเปลี่ยน

ไม่แค่ใช้ วิชาหลักแค่ทฤษฎี สำคัญที่การปฏิบัติ นำไปใช้ได้ “ชีวิตรอด”- ศ.สุมน ย้ำการศึกษาต้องพัฒนา คนที่หยุดนิ่ง คือคนที่ตายแล้วเท่านั้น

 สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็กเยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุมเสวนาวิชาการ “เวทีปฏิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล” เมื่อเร็วๆ นี้ ชุมชนการเรียนรู้ครู :เปลี่ยน “ห้องเรียน” ให้เป็น “ห้องเรียน(รู้)” ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น โดยมี ศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธานการประชุม มีผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ผู้บริหารสถานศึกษา ข้าราชการระดับสูงจากหน่วยงานด้านการศึกษา องค์กรภาคเอกชน มูลนิธิและผู้แทนสื่อมวลชนเข้าร่วมเสวนา 

 
ครั้งนี้มีการนำเสนอกรณีศึกษาของชุมชนการเรียนรู้ครูสอนดี     จ.กาญจนบุรี และจ.ลำปาง เป็น 2 จังหวัดที่นำเรื่องกระบวนการเปลี่ยนห้องสอนเป็นห้องเรียนรู้ (Professional Learning Communities) หรือ PLC ลงไปปรับวิธีการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบเดิมๆ ด้วยการให้ครูเปลี่ยนบทบาทจากการสอนหน้าชั้นเรียน และลดการสอนเนื้อหาวิชาลง เป็นการสอนที่เน้นทักษะ เน้นการเรียนรู้ ฝึกปฏิบัติ ทดลองทำจริง ให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้และดำรงชีวิตอยู่ได้ 
 
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม และนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทำไมต้องเปลี่ยนห้องสอนให้เป็นห้องเรียนรู้ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเป้าหมายการศึกษาต้องเปลี่ยนไป สมัยก่อนการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กได้วิชาแต่เห็นได้ชัดเจนว่าขณะนี้วิชาความรู้เกิดขึ้นมากมายภายใน 5 ปี มีความรู้ใหม่งอกขึ้นมาได้มากมาย วิธีการสอนแบบครูช่วยศิษย์จึงต้องเปลี่ยนนอกจากรู้วิชาแล้ว ต้องใช้วิชาให้เป็นเพื่อการดำรงชีวิตได้ เมื่อเด็กนำความรู้ไปฝึกประยุกต์ใช้นั่นคือทักษะ (Skill) เป็นการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจุดที่สำคัญที่สุดคือแรงบันดาลใจให้เด็กเห็นคุณค่าในตนเอง ผู้อื่น สังคม เพื่อให้เติบโตเป็นคนดี มีความสุข นอกจากทักษะการเรียนรู้ของเด็กแล้ว ทักษะการร่วมมือของครูกับเพื่อนครูด้วยกันก็สำคัญมาก การทำงานคนเดียวมีความสามารถคนเดียวไม่ได้ จึงต้องร่วมมือกัน เพราะโลกของเรามีความซับซ้อน จริงบ้างไม่จริงบ้าง ต้องรู้เท่ากัน ซึ่งมันเลยจากตัววิชาไปหมดแล้ว ครูต้องเอื้อให้เด็กเรียนรู้จากการลงมือทำ ชวนกันตั้งโจทย์ จะไม่สอนจากตัววิชาเป็นหลัก แต่ต้องเป็นครูฝึกเพื่อลงปฏิบัติ 
ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวอีกว่า วิธีการเปลี่ยนห้องสอนเป็นห้องเรียนรู้ ทำได้โดยยกเลิกการสอนหน้าชั้นเรียน เป็นการสอนให้เด็กลงมือทำ นำความรู้จากเนื้อหาวิชามาทดลองใช้ ด้วยการทำโครงงาน กิจกรรม ซึ่งครูต้องมีทักษะในเรื่อง (After Action Review) หรือ AAR เพราะเมื่อได้ปฏิบัติแล้ว จะต้องมีการตรวจสอบ ทบทวน แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ครูต้องมีความสามารถในการประเมินว่าเด็กคนไหนเรียนได้เร็ว คนไหนเรียนช้า ดูแลเด็กเป็นรายบุคคล มีทั้งศีลปะและทักษะ ดังนั้น ครูทำคนเดียวไม่ได้ต้องรวมตัวกันเป็นกลุ่ม หาวิธีการทำงาน กุศโลบายให้เด็กเรียนแล้วสนุก ครูยุคใหม่ต้องเป็นผู้เรียน เพื่อเรียนรู้ในการเป็นครูยุคใหม่ที่กระตุ้นให้เด็กเรียนรู้ การนำกระบวนการ PLC มาเป็นเครื่องมือจึงช่วยให้ครูเรียนรู้ได้ง่าย มีทักษะในการฟัง รับฟัง เปิดใจซึ่งกันและกัน เพราะทฤษฎีเป็นเพียงตัวเสริมเท่านั้น ความสำคัญอยู่ที่การปฏิบัติ 
ด้าน  ศ.กิตติคุณ สุมน อมรวิวัฒน์ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 4 สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ทุกคนกำลังเร่งจัดให้การศึกษากลับคืนสู่ชีวิตอีกครั้ง เป็นชุมชนการเรียนรู้เป็นมิตร เคารพ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันจนเกิดการพัฒนายอมรับซึ่งกันและกัน ไม่มีใครพูดถึงอำนาจและไม่มีใครมีอำนาจเหนือใคร ห้องเรียนอาจจะล้อมด้วยฝาห้อง 3-4 ด้าน แต่ฝาห้องไม่สามารรถปิดกั้นจิตนาการ คุมขัง นักเรียนได้ เพราะห้องเรียนเปิดกว้างสู่โลก จากนี้ไปชีวิตจะไม่เหมือนเดิม การกิน อยู่ หลับนอน พักผ่อน ออกกำลังกาย การศึกษาจึงต้องเปลี่ยนไป เพราะคนที่อยู่รอดไม่ใช้คนแข็งแรงอีกต่อไป คนเรียนระดับท็อปได้คะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่ไม่ได้เพราะต้นทุนชีวิตต่ำ 
 
ดังนั้น การเรียนต้องเป็นการศึกษาเพื่อชีวิต ครู นักเรียน ห้องเรียน ต้องเปิด ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมเรียนรู้ ทั้งนี้ การทำงานด้านการศึกษามี 5 แกนสำคัญ คือ 1.การเคลื่อนไหวให้เกิดการปฏิบัติ 2.จุดมุ่งหมาย    3. หลักและวิธีการ 4. การเสริมหนุน และ 5.การประเมินเพื่อการพัฒนา ขณะนี้มีคนหลายกลุ่ม และคนกลุ่มใหญ่กำลังเปลี่ยนแปลงร่วมกันลงมือทำ เช่นเดียวกับคน จ.ลำปาง และกาญจนบุรีที่ตระหนักแล้วว่าการศึกษาจะหยุดนิ่งไม่ได้ จะต้องเคลื่อนไหว เพราะคนที่นิ่ง เฉย ไม่ทำอะไร คือคนที่ตายแล้วเท่านั้น
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง