สะท้อนวิถีชีวิตแฝงความสุขในใจ ผ่านนิทรรศการ
แม้ได้ปลาเพียง 2 ตัว แต่เพียงพอสำหรับอาหารหนึ่งมื้อ คือความสุขของ 2 ตายายที่ไม่หวังเบียดเบียนชีวิตผู้อื่นจนเกินตัว ความทรงจำวัยเยาวว์ของ ชัยรัตน์ แสงทอง ศิลปินภาพเหมือน เมื่อครั้งที่อยู่สงขลาบ้านเกิด นำมาถ่ายทอดในภาพ ชั่วฟ้าดินสลาย สื่อถึงวิถีเรียบง่ายของผู้คนในต่างจังหวัด ส่วนหนึ่งของนิทรรศการ สามัญธรรมดากับคุณค่าอันสูงสุด ที่ต้องการให้ข้อคิดว่าคุณค่าความสุขแท้จริงนั้นอยู่ที่ใจ
ชัยรัตน์ แสงทอง ศิลปินเจ้าของผลงาน เผยว่า ทำไมเราเหมือนมีการศึกษา หรือคนรุ่นใหม่มีการศึกษาทุกคน ทำไมชีวิตถึงไม่ได้งดงามอย่างที่ควรจะเป็น เราควรจะย้อนกลับไหม เราไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปปลูกผักปลูกหญ้าเหมือนเขา หรืออาศัยอยู่ในชนบทอย่างเดียว เราต้องย้อนกลับว่าเรากำลังทำอะไรอยู่แล้วมันมีความหมายกับชีวิตเรากับคนข้างเคียงหรือเปล่า คือสิ่งของอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้เรามีความสุขได้ แต่ความสุขไม่ได้อยู่แค่สิ่งของเท่านั้น
ขณะที่ ปนท ปลื้มชูศักดิ์ อาจารย์คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า เรื่องราวที่ง่ายๆแต่มันมีคุณค่าในการดำเนินชีวิต ซึ่งมันไม่ใช่โลกของวัตถุ เรื่องของโลกที่หมุนไปรวดเร็ว ทุกอย่างคือความเรียบง่ายแต่ให้คุณค่าในการดำเนินชีวิต อยู่แบบพอเพียง การมีชีวิตอย่างที่ความสุขในรูปแบบของวิถีชาวบ้านอย่างแท้จริง
มิติภาพที่คมชัดทำให้ผลงานแนว Realistic ของชัยรัตน์ แสงทอง โดดเด่นราวกับการชมภาพถ่าย นอกจากประสบการณ์ยาวนานกว่า 20 ปี ยังพิถีพิถันทุกขั้นตอน ทั้งการร่างโครงสร้างเพื่อให้ได้สดส่วนที่ถูกต้อง ไปจนถึงวิธีการลงสีที่เน้นแสงธรรมชาติเพื่อให้ออกมาดูสมจริง
ด้านผศ.ถาวร โกอุดมวิทย์ ศิลปินอาวุโส กล่าวว่า เราจะเห็นว่าศิลปะส่วนใหญ่จะใช้การระบายสี แต่ลักษณะงานของชัยรัตน์จะเป็นลักษณ์การวาดเส้น เพราะฉะนั้นรายละเอียดต่างๆ เราจะเห็นว่าในงานของเขาเก็บรายละเอียดได้ดี ซึ่งไม่ใช่แค่รายละเอียดดี โครงสร้างทางสรีระ ถ้าคนเขียนรูปจะรู้มันยากมาก ผมคิดว่าชัยรัตน์เป็นทรัพยากรของวงการศิลปะที่สำคัญคนหนึ่ง
การเว้นพื้นที่สีขาวไว้เป็นฉากหลัง เพื่อขับเน้นรูปทรงให้ดูเด่นชัดขึ้นเป็นอีกเทคนิคที่ศิลปินใช้สร้างสรรค์งานครั้งนี้ เพื่อแสดงถึงความบริสุทธิ์และความจริงที่ไร้การเติมแต่ง เหมือนเรื่องราวชีวิตที่ถ่ายทอดในทุกภาพ นิทรรศการ สามัญธรรมดากับคุณค่าอันสูงสุด จัดแสดงถึงวันที่ 7 ก.ค.2556 ที่หอศิลป์ร่วมสมัยอาร์เดล