ตำรวจทหารและฝ่ายปกครองสนธิกำลัง ตั้งด่านตรวจเข้มรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ที่ผ่านเข้า-ออกเขตเทศบาลเมืองสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส เพราะมีพรหมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงเกรงว่ากลุ่มแนวร่วมผู้ก่อความความไม่สงบ อาจแฝงตัวเข้ามาก่อเหตุ ในช่วงการพูดคุยสันติภาพ ระหว่างตัวแทนฝ่ายไทยกับแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งจะมีขึ้นในประเทศมาเลเซีย วันพรุ่งนี้ (13 มิ.ย.2556)
ก่อนเดินทางไปพูดคุยสันติภาพ พลโทภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ลงพื้นที่เปิดเวทีรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน โดยหยิบยก 2 โมเดล ในการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
รูปแบบแรกให้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส เลือกผู้ว่าราชการจังหวัดกันเอง คล้ายการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รูปแบบ2 ตั้งเป็นนครปัตตานี แต่ไม่ใช่นครรัฐปัตตานี โดยให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เลือกผู้ว่าราชการจังหวัดเพียงคนเดียว โดยคาดว่าแนวคิดดังกล่าว จะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุย
พ.ต.อ.จำรูญ เด่นอุดม ประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ เผยว่า การจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ เป็นทางเลือกที่ดี เพราะที่ผ่านมา หลายรัฐบาลพยายามทุกวิถีทางที่จะให้ภาคใต้สงบ ทั้งการตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.ที่เปรียบเสมือนรัฐบาลส่วนหน้า แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ
ขณะที่ ชินโทโร่ ฮาร่า นักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่น มองว่า พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ภายใต้สงคราม เพราะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบต่อเนื่อง มีทหารเต็มพื้นที่ และมีการใช้กฎหมายพิเศษ จึงเร็วเกินไปที่จะพูดถึงการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ แต่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาโดยใช้ศูนย์รวมอำนาจที่ส่วนกลาง
รวมทั้งยังมีเสียงสะท้อนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มองว่า เขตปกครองพิเศษ อาจเป็นเพียงความต้องการของคนบางกลุ่ม และไม่มั่นใจว่า วิธีนี้จะยุติสถานการณ์ไม่สงบได้