เลขาฯ สมช.หารือพูดคุยสร้างสันติภาพชายแดนใต้รอบ 3
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสถาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า กรอบการพูดคุยยังใช้โรดแมปที่มาจากหน่วยความมั่นคง และการสอบถามภาคประชาชนในพื้นที่ โดยการพูดคุยในวันนี้จะมีการสืบสภาพว่า 1 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มใดก่อเหตุความรุนแรง เพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน หากไม่ใช่กลุ่มนี้ก็พร้อมที่จะคุยกับกลุ่มอื่นตามแนวคิดของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) ส่วนจะมีการเลื่อนกำหนดพูดคุยในครั้งต่อไปหรือไม่จะต้องรอดูผลการพูดคุยในรอบที่ 3 ก่อน รวมถึงดูว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นจะสั่งการลดเหตุความรุนแรงได้หรือไม่
ส่วนข้อเสนอ 5 ข้อของกลุ่มบีอาร์เอ็น โดยเฉพาะเรื่องการปลดปล่อยชาวปาตานีนั้น เลขาธิการ สมช. ระบุว่า ขณะนี้ยังมีการแปลนัยยะไม่ตรงกันว่าจะหมายถึงการแบ่งแยกดินแดนหรือไม่ รวมถึงข้อเสนอของนายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่เสนอแนะเรื่องพื้นที่เขตปกครองพิเศษ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าจะต้องมีสืบสภาพในเวทีพูดคุยกับภาคส่วนต่างๆ โดยที่จะแยกเป็นรัฐปกครองไม่ได้ ขณะที่ประชาชนในพื้นที่มองว่า อยากให้มีการปกครองท้องถิ่นแบบสร้างสันติสุข ดังนั้นจะต้องมีการพูดคุยในพื้นที่อีกครั้ง
ขณะที่ข้อเสนอของกลุ่มบีอาร์เอ็นที่ต้องการให้โอไอซี และเอ็นจีโอเข้ามาร่วม สร้างสันติภาพในเรื่องนี้ก็ต้องมีการสอบถามว่าต้องการสื่อความหมายหมายเช่นไร ซึ่งการพูดคุยครั้งนี้ ทางไทยมีการเตรียมรายชื่อผู้มีหมายจับความคดีความมั่นคงจำนวนหนึ่งเพื่อพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นด้วย ว่าจะสามารถปล่อยตัวใครได้บ้าง แต่ไม่ขอเปิดเผย
สอดคล้องกับคำยืนยันของ ร.ต.อ.เฉลิม ที่จะประเมินการพูดคุยในวันที่ 13 มิถุนายน ก่อนที่จะกำหนดท่าทีของรัฐบาลอีกครั้ง พร้อมกันนั้นก็เปิดเผยถึงกรอบของการพูดคุย 3 ประเด็น คือความไม่เป็นธรรมที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอ้างถึง การออกหมายจับโดยไม่เป็นธรรม และข้อเรียกร้องในการยกเลิก พระราชกำหนดฉุกเฉินในแต่ละพื้นที่
ด้าน พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ไม่ได้คาดหวังว่าหลังจากการพูดคุยรอบ 3 ความรุนแรงจะลดลง เพราะต้องใช้เวลาแก้ไข สิ่งสำคัญสำหรับการพูดคุยเจรจาคือความเข้าใจ ซึ่งทั้ง 2 ฝ่าย ต้องมองในภาพรวม และการพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นในวันที่ 13 มิถุนายน ได้กำชับกับทีมเจรจาว่า พูดคุยกับบีอาร์เอ็นหยุดก่อเหตุความรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอน หากยังไม่หยุดคงต้องใช้การปฏิบัติการทางทหาร เพื่อดูแลประชาชนให้ปลอดภัยมากที่สุด