จารึกบทกวี
เปรียบศิลปวัฒนธรรมดังคันฉ่องและโคมฉายที่สะท้อนและส่องผ่านตัวตนของคนในชาติผ่านบทกวี ‘วิถีไทย’ " งานประพันธ์จากปลายปากกาของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2536 ไม่เพียงสื่อความหมายได้อย่างลึกซึ้ง หากยังโดดเด่นด้วยฉันทลักษณ์บทกวีแบบไทย จึงได้รับเลือกจากโครงการ ‘พาธท์ ออฟ วิชั่นนารี ออฟ เดอะ เวิร์ล (Path of Visionaries of the World)' ให้สลักวรรคสุดท้ายของกลอนบทนี้ลงแผ่นหินบนทางเท้าถนนฟรีดริชสตราเซอร์ (Friedrichstrasse) ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี
‘พาธท์ ออฟ วิชั่นนารี ออฟ เดอะ เวิลด์‘ เป็นโครงการศิลปะจัดแสดงในที่สาธารณะซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2549 โดยรวบรวมวาทะของบุคคลสำคัญของแต่ละประเทศ เช่น อัลเบิร์ต ไอนสไตน์, แอนตวน เดอ แซ้งค์เตกซูเปรี และมหาตมะ คานธี จารึกบนแผ่นหินบนทางเท้าของถนนฟรีดริชสตราเซอร์ ซึ่งเป็นถนนสายสำคัญในกรุงเบอร์ลินตั้งแต่อดีต เพราะเป็นที่ตั้งของ ‘Checkpoint Charlie’ หรือจุดควบคุมการข้ามแดนระหว่างเบอร์ลินตะวันออกและตะวันตก ซึ่งถูกแบ่งโดยกำแพงเบอร์ลิน แม้ปัจจุบันฟรีดริชสตราเซอร์จะกลายเป็นย่านธุรกิจที่มีคนพลุกพล่าน แต่การนำคำคมจากบุคคลสำคัญทั่วโลกมารวมกันบนถนนเส้นนี้ ทำให้ผู้คนที่เดินผ่านไปมาได้หยุดสังเกต และฉุกคิดถึงสิ่งรอบตัวผ่านวาทะทองตัวแทนของแต่ละประเทศ
นอร์แบร์ท ชปิทซ์ ผู้อำนวยการสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย บอกว่า แต่ละประเทศล้วนมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและปัญญา การนำวาทะบุคคลสำคัญของแต่ละประเทศมาไว้บนนถนนที่มีความสำคัญเส้นนี้ก็ถือเป็นการรวบรวมมรดกทางปัญญาของคนทั้งโลก
บทกวี ‘วิถีไทย’ จะถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและเยอรมันก่อนนำมาจารึกลงบนแผ่นหินบนทางเท้าถนนฟรีดริชสตราเซอร์ โดยเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์จะเดินทางไปส่งมอบบทกวีในปีนี้