วิกฤตความมั่นคงทาง อาหารไทยแย่ ใช้
เกษตรกรหนีปลูกพืชพลังงาน ชี้กระทบอัตรากินผักผลไม้ พบภาคใต้ ซื้ออาหารกินรองจาก กทม.เหตุปลูกแต่พืชพลังงาน
เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่มหาวิทยาลัยเกษรศาสตร์ มูลนิธิชีววิถี ร่วมกับแผนงานความมั่งคงทางอาหาร จัดงานสมัชชาวิชาการความมั่นคงทางอาหารของประเทศและชุมชน โดยรศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ความสูญเสียพื้นที่ทางการเกษตรเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา คนทั่วไปมักทำให้ถูกเชื่อว่า อาหารที่บริโภคอยู่มาจากอุตสหกรรมการผลิตอาหารขนาดใหญ่แต่ความจริงพบว่า กว่าร้อยละ 80 เป็นการผลิตอาหารโดยเกษตรกรรายย่อย เมื่อภาพผู้ผลิตรายใหญ่ชัดเจนกว่า ทำให้เกษตรกรรายย่อยถูกละเลยและไม่มีมาตรการสนับสนุนที่ชัดเจน นอกจากนี้ ความหลากหลายของพันธุ์พืช โดยปัจจุบันพบว่าพันธุ์พืชมีมากกว่า 30,000 ชนิด แต่คนทั่วไปรู้จักเพียง 105 ชนิดเท่านั้น และยังมีการนำพันธ์พืชไปแปรเป็นพลังงานจนเกิดการผลิตที่ไม่สมดุล
รศ.วิลาสินี กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการนำเข้าสารเคมีเป็นลำดับหนึ่งในอาเซียนโดยมีปริมาณการใช้สารเคมีใกล้เคียงกับประเทศจีน ผลจากการใช้สารเคมีจำนวนมากเป็นเหตุทำให้เมื่อตรวจวัดเลือดของเกษตรกรพบปริมาณสารเคมีในเลือดสูงกว่ามาตรฐานจำนวนมาก ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคด้วยอย่างแน่นอน สอดคล้องกับอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่พบได้มากขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ ความมั่นคงทางอาหารถือเป็นดัชนีชี้วัดหนึ่งของความมั่นคงของประเทศ โดยมาตรการเพื่อสร้างความมั่นคงของประเทศจำเป็นต้องดูทั้งระบบเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า ปัจจุบันการผลิตอาหารเพื่อการส่งออกในอาเซียนไทยถือว่ามีคู่แข่งจำนวนมาก โดยพบว่าประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย และพม่า ได้มีกำลังการผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ไทยยังไม่มีมาตรการรับมือที่ดีพอ เช่น การปลูกข้าว ที่เกษตรกรอยู่ได้เพราะโครงการรับจำนำข้าวที่ไม่เน้นคุณภาพ ซึ่งจะทำให้คุณภาพแย่ลงเรื่อยๆ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านมีการเน้นคุณภาพมากขึ้น และแนวโน้มตลาดโลกต้องการข้าวที่่มีคุณภาพ ซึ่งมีราคามากกว่าร้อยละ 30-50 นอกจากนี้ยังพบว่า ความสามารถในการผลิตข้าวต่อไร่ของไทยอยู่ที่ 450-470 กิโลกรัม เวียดนามอยู่ที่ 800 กิโลกรัม พม่า ใกล้เคียงกับไทย แต่ต้นทุนการผลิตทั้งเวียดนามและไทยถือว่าต่ำกว่าเนื่องจากการใช้สารเคมีต่อไร่น้อยกว่า ซึ่งไทยต้องหาวิธีพัฒนาในเรื่องคุณภาพให้มากขึ้น
นายเดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงเรื่อง นโยบายพลังงานและการคุกคามพื้นที่ทางอาหาร ว่า ปัจจุบันพบว่าพืชพลังงานเช่น ปาล์ม อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา มีพื้นที่การปลูกเพิ่มขึ้นรวมประมาณร้อยละ 34 ขณะที่ข้าวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 12 ซึ่งเกิดจากทั้งปริมาณความต้องการที่เพิ่มขึ้น การส่งออกที่มากขึ้น เมื่อพิจารณาข้อมูลระหว่างปี 2553-2555 พบว่าพื้นที่การปลูกพืชประเภทผลไม้ลดลงประมาณ 300,000ไร่ เทากับผู้ปลูกลดลงประมาณ 1 แสนครัวเรือน โดยการลดลงดังกล่าวจะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารอย่างไม่รู้ตัว เมื่อดูปริมาณการบริโภคผัก ผลไม้ พบว่าผู้ชายไทยร้อยละ 81 ผู้หญิงไทยร้อยละ 76 บริโภคผักผลไม้ไม่เพียงพอ
"พื้นที่ปลูกผักผลไม้ที่ลดลงจะกระทบต่อจำนวนการกินผักผลไม้คนไทย เพราะทำให้ราคาสูงขึ้น ในขณะที่่เกษตรกรได้เงินน้อยเหมือนเดิมจึงเปลี่ยนไปเพาะปลูกพืชพลังงานแทน ปัจจุบันพบว่า พื้นที่ 3 ใน 4 ของภาคใต้ปลูกพืชพลังงาน ทำให้อัตราการผลิตอาหารพอเพียงต่อครัวเรือนมีเพียงร้อยละ 2 โดยมีเพียง 2 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราชและพัทลุง ที่ปลูกข้าวได้เพียงพอสำหรับคนในพื้นที่ ทำให้คนในภาคใต้ต้องจ่ายเงินซื้ออาหารรองจากคนกทม. ซึ่งกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือคนรายได้น้อย ความมั่นคงทางอาหารจึงถือเป็นภัยเงียบที่จะเข้ามาแบบไม่รู้ตัว" ดร.เดชรัต กล่าว