สถาบันสอนภาษาแข่งขันเดือดรับเปิดอาเซียน...จับตารายใหญ่ ชิงส่วนแบ่งตลาด
ความต้องการพัฒนาทักษะภาษาต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาษาอังกฤษ เป็นปัจจัยผลักดันให้คนไทยนิยมเรียนภาษาต่างชาติในสถาบันสอนภาษาต่างชาติเอกชน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้จำนวนผู้ต้องการเรียนภาษาต่างชาติเพื่อพัฒนาทักษะเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาษาอังกฤษ ทั้งในส่วนของแรงงานวิชาชีพจำเป็นต้องพัฒนาทักษะภาษาต่างชาติเพื่อใช้ในการทำงานในประเทศกลุ่มอาเซียน และการค้าและการลงทุนในอาเซียนขยายตัวส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องการบุคลากรที่มีความสามารถด้านภาษา
โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการว่า จำนวนผู้เรียนภาษาต่างชาติเพื่อพัฒนาทักษะจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 432,000 คน ในปี 2555 เป็น 746,500 คน ในปี 2558 โดยมีอัตราการเติบโตของจำนวนผู้เรียนเฉลี่ยร้อยละ 20 ต่อปี และมูลค่าตลาดสถาบันสอนภาษาต่างชาติเพื่อพัฒนาทักษะจะเพิ่มขึ้นจาก 6,044 ล้านบาท ในปี 2555 เป็น 11,023 ล้านบาท ในปี 2558 โดยมีอัตราการเติบโตของมูลค่าตลาดเฉลี่ยร้อยละ 22 ต่อปี แบ่งเป็นมูลค่าตลาดสถาบันสอนภาษาต่างชาติขนาดใหญ่ 3,441 ล้านบาท ซึ่งมีอัตราการเติบโตของมูลค่าตลาดเฉลี่ยร้อยละ 34 ต่อปี และมูลค่าตลาดสถาบันสอนภาษาต่างชาติขนาดกลางและเล็ก 7,582 ล้านบาท ซึ่งมีอัตราการเติบโตของมูลค่าตลาดเฉลี่ยร้อยละ 18 ต่อปี
จากกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการพัฒนาทักษะภาษาต่างชาติที่หลากหลายและมีจำนวนมากขึ้น ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อตลาดสถาบันสอนภาษาต่างชาติเพื่อพัฒนาทักษะที่จะแข่งขันกันอย่างรุนแรงเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งมูลค่าตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตลาดสถาบันสอนภาษาต่างชาติขนาดใหญ่ที่มีอัตราการเติบโตสูง ในขณะที่มีผู้ประกอบการหลักจำนวนไม่กี่ราย โดยพบว่า สถาบันสอนภาษาต่างชาติขนาดใหญ่มีจุดแข็งในด้านแบรนด์ เงินทุน เทคโนโลยี การทำการตลาด เครือข่ายพันธมิตร และความเชี่ยวชาญด้านทำเล
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า การขยายธุรกิจของสถาบันสอนภาษาต่างชาติขนาดใหญ่และการใช้กลยุทธ์ต่างๆเพื่อดึงดูดผู้เรียน จะส่งผลให้สัดส่วนมูลค่าตลาดสถาบันสอนภาษาต่างชาติขนาดใหญ่มีแนวโน้มสูงขึ้น จากร้อยละ 24 ของมูลค่าตลาดสถาบันสอนภาษาต่างชาติในปี 2555 เป็นร้อยละ 31 ของมูลค่าตลาดสถาบันสอนภาษาต่างชาติในปี 2558 ในขณะที่สัดส่วนมูลค่าตลาดสถาบันสอนภาษาต่างชาติขนาดกลางและเล็กมีแนวโน้มลดลง จากร้อยละ 76 ของมูลค่าตลาดสถาบันสอนภาษาต่างชาติในปี 2555 เป็นร้อยละ 69 ของมูลค่าตลาดสถาบันสอนภาษาต่างชาติในปี 2558
จากทิศทางการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้เล่นในตลาด นำมาซึ่งความจำเป็นในการปรับกลยุทธ์ของสถาบันสอนภาษาต่างชาติ โดยสถาบันสอนภาษาต่างชาติขนาดใหญ่ควรเจาะกลุ่มลูกค้าองค์กรเพื่อเข้าถึงผู้เรียนได้จำนวนมาก พัฒนาหลักสูตรที่มีความเฉพาะเจาะจงสำหรับบุคลากรในสายงานอาชีพต่างๆ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและเครือข่ายพันธมิตรที่มีอยู่อย่างเต็มที่เพื่อสร้างความคุ้มค่าให้กับผู้เรียน ในขณะที่ สถาบันสอนภาษาต่างชาติขนาดกลางและเล็กควรใช้ข้อได้เปรียบในด้านความสัมพันธ์และความเข้าใจผู้เรียนในท้องถิ่นเจาะกลุ่มผู้เรียนในพื้นที่ และพัฒนาคุณภาพเทียบเท่าสถาบันสอนภาษาต่างชาติขนาดใหญ่
*** ขอบคุณภาพจาก www.studyatoz.com