ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ผลรับฟังความเห็น "บริการสาธารณสุข" คนค่อนข้างพอใจคุณภาพบริการ

สังคม
17 มิ.ย. 56
02:50
131
Logo Thai PBS
ผลรับฟังความเห็น "บริการสาธารณสุข"  คนค่อนข้างพอใจคุณภาพบริการ

ผลการประชาพิจารณ์เผย ผู้ให้บริการยึดมั่นในการให้บริการรักษาพยาบาลตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ แต่สะท้อนในเรื่องการจัดสรรเงินกองทุนว่ายังมีความเหลื่อมล้ำในเรื่องงบส่งเสริมป้องกันโรค อยากเห็นการผสมผสานองค์ความรู้จากส่วนกลางและท้องถิ่นให้ทำงานไปในทิศทางเดียวกัน

 นายแพทย์ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเปิดเผยว่า  คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กำหนดแผนปฏิบัติการรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากประชาชนและผู้ให้บริการสาธารณสุขเกี่ยวกับการดำเนินการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เพื่อให้คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ  สรุปบทเรียนและประสบการณ์การดำเนินงานที่ผ่านมา  รวมทั้งระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานและเตรียมความพร้อมสำหรับการสร้างหลักประกันสุขภาพในอนาคต โดยที่ผ่านมาจากการการประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการตามมาตรา 18(13) ปีงบประมาณ 2556 ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545  

        
รัฐมนตรีว่าการฯกล่าวว่า  สำหรับกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจำเป็นต้องปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และปัญหาพื้นฐานทางด้านสาธารณสุข จึงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการใหม่ตามมาตรา 18(10) และออกข้อบังคับของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์การรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการพ.ศ. 2556 โดยเน้นสาระ          3 ประเด็นคือ  1.เพื่อนำความคิดเห็นมาพัฒนาคุณภาพมาตรฐานของการให้บริการทางด้านสาธารณสุข  2.เพื่อนำมาพิจารณาในการจัดสรรเงินกองทุนให้กับหน่วยบริการและเครือข่ายของหน่วยบริการและ 3.ประเด็นต่าง ๆของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ครอบคลุมประชาชน 48 ล้านคน   
          
นายแพทย์จรัล ตฤณวุฒิพงษ์  กรรมการหลักประกันสุขภาพด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า  การประชุมรับฟังความคิดเห็นเป็นกระบวนการที่จะสะท้อนผลงานของการบริหารจัดการองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  ซึ่ง สปสช.ได้จัดประชุมทุกปีเพื่อเป็นการพัฒนาบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแบบมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งผู้ให้และผู้รับบริการตลอดจนองค์กรปกครองท้องถิ่น  ทั้งนี้  ผลการรับฟังปีนี้พบว่า   ผู้รับบริการค่อนข้างพอใจกับการเข้าถึงบริการทุกระดับ  ขณะที่ทางผู้ให้บริการ  ยังคงยึดมั่นเรื่องคุณภาพบริการของแต่ละโรคตามจรรยาบรรณของวิชาชีพเป็นหลัก  ขณะเดียวกันผู้ให้บริการยังได้สะท้อนถึงเรื่อง การจัดสรรเงินกองทุนว่ายังมีความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นงบประมาณทางด้านส่งเสริมและป้องกันโรค เนื่องจากมีงบประมาณส่วนหนึ่งจากกระทรวงสาธารณสุขลงไปยัง รพ.สต. โดยเสนอว่าจะทำอย่างไรให้องค์ความรู้จากกระทรวงสาธารณสุขเข้าไปผสมผสานทำให้กองทุนท้องถิ่นสามารถทำกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคแก่ทุกกลุ่มประชากรทุกสิทธิได้อย่างมีประสิทธิภาพ
         
 “การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วไปในปี 2556 ในระดับเขต ทั้ง 13 เขต มีกลุ่มเป้าหมายในการรับฟังความคิดเห็นทั้งผู้ให้บริการสาธารณสุขจากสถานพยาบาลทุกระดับ ผู้แทนองค์กรวิชาชีพต่างๆ ประชาชนทั่วไป รวมทั้งที่มีและไม่มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตลอดจน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้มีส่วนได้เสีย นักวิชาการ หรือผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกว่า 10,000 คนทั่วประเทศ  โดยมีประเด็น 7 ด้าน คือ 1.ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข 2. ด้านมาตรฐานบริการสาธารณสุข 3.ด้านการบริการจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 4.ด้านบริหารจัดการสำนักงาน 5.ด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน 6.ด้านการรับรู้และคุ้มครองสิทธ์และ 7.ด้านการบริการจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นและพื้นที่ เพื่อกำหนดเป็นชุดสิทธิประโยชน์ให้กับประชาชนต่อไป”นพ.จรัลกล่าวว่า 
          
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2548-2555 ที่ผ่านมา คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้จัดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง และผลการรับฟังความคิดเห็นได้มีการประกาศเป็นนโยบายหรือกำหนดเป็นชุดสิทธิประโยชน์แล้ว เช่น การสนับสนุนเร่งรัดพัฒนาบริการปฐมภูมิใกล้บ้านใกล้ใจ  การให้ความคุ้มครองผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ การเพิ่มการเข้าถึงบริการแพทย์แผนไทย การบริหารจัดการโรคที่มีค่าใช่จ่ายสูงอย่างครบวงจร การขยายบริการทดแทนไตสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ยกเลิกการจำกัดการคุ้มครองการเจ็บป่วยฉุกเฉินไม่เกิน 2 ครั้งต่อปี  การเพิ่มการเข้าถึงยาราคาแพง และยาในบัญชี จ(2) การนำร่องการใช้บัตรประชาชน Smart card แทนบัตรทอง การผ่าตัดปลูกถ่ายตับการผ่าตัดหัวใจ การเปลี่ยนหน่วยบริการได้ปีละ 4 ครั้ง  เป็นต้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง