ผลสำรวจชี้
ผลสำรวจล่าสุดจาก ทาวเวอร์ส วัทสัน จากนิวยอร์ก ที่ปรึกษาด้านการบริหารองค์กรระดับโลก เผยว่านายจ้าง 4 ใน 10 รายมีรายจ่ายในด้านสวัสดิการ
การสำรวจ Asia Pacific Employee Benefit Trends ประจำปี 2556 ได้จัดทำขึ้นโดยเก็บข้อมูลจากนายจ้างรวมทั้งสิ้น 1,066 รายทั่วภูมิภาค ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2556 โดยข้อมูลจากการสำรวจยังชี้อีกว่าความเห็นของพนักงานที่มีต่อสวัสดิการไม่ได้ดีขึ้นไปตามระดับค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการที่เพิ่มขึ้นของทางบริษัท ซึ่งก็หมายความว่าเจ้าของกิจการอาจไม่สามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติในจุดนี้ได้ด้วยการลงทุนเพิ่มเติม
“เราพบว่านายจ้างได้หันมาให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ด้านสวัสดิการมากขึ้น เพื่อให้องค์กรสามารถดึงดูดพนักงานใหม่และรักษาพนักงานเดิมไว้ได้ดีขึ้น ปัจจุบัน นายจ้างกว่า 81% ได้ทำการวางกลยุทธ์ด้านสวัสดิการเพื่อช่วยชี้นำการตัดสินใจในด้านดังกล่าว ในขณะที่ในปี 2552 นั้น มีเพียง 66% เท่านั้น”
นายแมทธิว แจ็คสัน ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาประสิทธิภาพสวัสดิการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวถึงผลสำรวจได้ทำให้เกิดข้อสงสัยในด้านประสิทธิภาพและความคุ้มค่าของกลยุทธ์เหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกธุรกิจยุคใหม่ ที่มีการแข่งขันสูง และยังมีองค์กรต่างๆ เข้าแย่งชิงคนมีความสามารถกันทั่วทั้งภูมิภาค
“พบว่านายจ้างบางรายนั้น เลือกที่จะแก้ปัญหาเรื่องมุมมองด้านคุณค่าของระบบสวัสดิการในหมู่พนักงานโดยการเพิ่มสวัสดิการให้มากขึ้น แต่ทว่าวิธีนี้อาจทำให้ปัญหานี้แย่ลงแทนที่จะดีขึ้น เนื่องจากองค์กรในปัจจุบันมักจะมีความหลากหลายด้านกำลังคนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการสร้างระบบสวัสดิการเพียงระบบเดียวสำหรับพนักงานทุกคนก็มักจะไม่ใช่นโยบายที่ดีที่สุด นายจ้างที่แก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ อาจได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าจากการทบทวนและปรับปรุงระบบสวัสดิการของเดิม พร้อมกับเปิดโอกาสให้พนักงานได้มีทางเลือกในด้านสวัสดิการ แทนที่จะไปเพิ่มสวัสดิการให้กับทุกคน” นายแจ็คสันกล่าวเสริม
ผลสำรวจจาก ทาวเวอร์ส วัทสัน พบอีกว่า จำนวนนายจ้างที่มีแผนจะปรับให้ระบบสวัสดิการของตนมีความยืดหยุ่นมากขึ้นนั้น จะเพิ่มขึ้นเท่าตัวในปีหน้า โดยนายจ้างจำนวน 32% จะเพิ่มความยืดหยุ่นในแผนสวัสดิการ (เทียบกับ 15% ในปีนี้) และอีก 23% จะเริ่มนำเอาแผนสวัสดิการแบบยืดหยุ่นมาใช้งาน (เทียบกับ 12% ในปีนี้)
ส่วนในด้านการสื่อสารเกี่ยวกับสวัสดิการ พบว่านายจ้างเกือบหนึ่งในสาม (31%) ยังไม่มีการสื่อสารกับพนักงานในเรื่องของสวัสดิการ ซึ่งแม้ว่าจะยังเป็นตัวเลขที่สูง แต่ก็ยังน้อยกว่าสถิติ 55% จากการสำรวจในปี 2552 นอกจากนี้ ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและมุมมองด้านคุณค่าของสวัสดิการที่ได้รับ โดยบริษัทที่สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะมีพนักงานที่เห็นคุณค่าของสวัสดิการมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
นายคริส เมย์ส ผู้อำนวยการฝ่ายสวัสดิการประจำประเทศไทย กล่าวว่า ข้อมูลตรงนี้มีความหมายมากทีเดียวสำหรับประเทศไทย เมื่อมองจากในบางด้าน นายจ้างในประเทศไทยก็ถือว่ามีศักยภาพด้านสวัสดิการในระดับเดียวกันกับชาติอื่นๆในภูมิภาคนี้ อย่างเช่นการที่นายจ้างเกือบ 40% มีการลงทุนในด้านสวัสดิการสูงกว่า 20% ของค่าจ้างทั้งหมด แต่ในขณะเดียวกัน เรากลับพบว่านายจ้างกว่า 28% ไม่แน่ใจว่าพวกเขาใช้จ่ายในด้านนี้ไปทั้งหมดเท่าไร ซึ่งถือว่าน่าเป็นห่วงไม่น้อย และเราก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ถ้าบริษัทไม่รู้ว่าพวกเขามีค่าใช้จ่ายเท่าไร แล้วเราจะไปคาดหวังให้พนักงานมีความเข้าใจในด้านนี้ได้อย่างไร
นายเมย์ส กล่าวว่า ผลสำรวจของ ทาวเวอร์ส วัทสันปีนี้ แสดงให้เห็นว่าบริษัทที่มีวิสัยทัศน์ในประเทศไทยกำลังพัฒนาศักยภาพด้านสวัสดิการของตนด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ การปรับแต่งให้เข้ากับพนักงานแต่ละกลุ่ม และการสื่อสารที่ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยราว1ใน 4 (26%) ของผู้ที่เข้าร่วมการสำรวจระบุว่าองค์กรของตนจะเพิ่มความยืดหยุ่นในระบบสวัสดิการให้แก่พนักงาน เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถเลือกสวัสดิการในแบบที่เข้ากับวิถีชีวิตของตน และมีมูลค่าสูงในสายตาของพวกเขา ยิ่งไปกว่านั้น เรายังได้เห็นบริษัทหลายแห่งออกมาส่งเสริมประเด็นด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิตของพนักงาน โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามหลายรายที่มีแผนที่จะเปิดตัวโครงการช่วยเหลือพนักงาน เว็บไซต์ข้อมูลด้านสุขภาพ และนโยบายรับรองพนักงานทุพพลภาพ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในด้านการดูแลสุขภาพพนักงาน ควบคู่ไปกับการเพิ่มผลผลิตและความมีส่วนร่วมในการทำงานของพนักงาน
นายแอนดรูว์ เฮิร์ด กรรมการผู้จัดการฝ่ายสวัสดิการ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อธิบาย นายจ้างทุกคนจะต้องตระหนักถึงความหลากหลายด้านกำลังคนในองค์กร และมองเห็นว่าพนักงานในแต่ละกลุ่มก็มีความต้องการที่แตกต่างกันไป ระบบสวัสดิการแบบยืดหยุ่นถือเป็นคำตอบที่ดีสำหรับปัญหานี้ เพราะพนักงานจะสามารถเลือกสิทธิประโยชน์ที่ดูน่าสนใจสำหรับพวกเขาได้เอง แต่ความยืดหยุ่นนั้นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของภาพรวมเท่านั้น โดยหากขาดความชำนาญในด้านการสื่อสารและกลยุทธ์การบริหารงานที่เหมาะสม ความพยายามในการวางระบบที่ดีก็อาจจะเสียเปล่าไปโดยไม่ได้อะไร นายจ้างควรจะพิจารณาระบบสวัสดิการของตนอย่างทั่วถึงด้วยมุมมองแบบองค์รวม เพื่อให้การลงทุนในด้านสวัสดิการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเสริมสร้างการรับรู้คุณค่าของสวัสดิการในหมู่พนักงานต่อไป