ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ยกระดับมาตรฐานสินค้า “น้อยหน่า” รับตลาดส่งออก

สิ่งแวดล้อม
18 มิ.ย. 56
11:44
2,200
Logo Thai PBS
ยกระดับมาตรฐานสินค้า “น้อยหน่า” รับตลาดส่งออก

มกอช.สร้างมาตรฐาน “น้อยหน่า” มุ่งยกระดับคุณภาพสินค้า คุ้มครองผู้ผลิต-ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ เสริมขีดความสามารถการแข่งขัน พร้อมรองรับตลาดส่งออก ชี้แนวโน้มตลาดจีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ตอบรับดี

 นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) เปิดเผยว่า น้อยหน่าเป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีการปลูกทั่วทุกภาคของไทย ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกรวมกว่า 34,000 ไร่ ได้ผลผลิตปีละไม่น้อยกว่า 30,000 ตัน โดยผลผลิต ประมาณ 91 % ป้อนผู้บริโภคภายในประเทศ ส่วนอีก 9 % ส่งออกไปยังตลาดประเทศต่างๆ อาทิ จีน ฮ่องกอง ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น

ในปีที่ผ่านมา มีปริมาณการส่งออกน้อยหน่ารวม 3,057.25 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 118.75 ล้านบาท ซึ่งตลาดส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากไทยยังไม่มีเกณฑ์คุณภาพของน้อยหน่าที่เป็นมาตรฐาน มกอช.จึงได้จัดทำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่องน้อยหน่าขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางพัฒนายกระดับคุณภาพสินค้าน้อยหน่า ขณะเดียวกันยังสามารถใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงทางการค้า เป็นการคุ้มครองเกษตรกรผู้ผลิตและผู้บริโภค และเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี(AEC) ในปี 2558 ซึ่งอาจกระทบต่อการผลิตและส่งออกสินค้าน้อยหน่าของไทยได้

 
“ร่างมาตรฐานสินค้าดังกล่าว มีเนื้อหาครอบคลุมพันธุ์น้อยหน่าที่ผลิตเป็นการค้าเพื่อบริโภคผลสด เช่น น้อยหน่าพันธุ์เพชรปากช่อง พันธุ์ฝ้าย และพันธุ์หนัง โดยมีข้อกำหนดคุณภาพขั้นต่ำ ทั้งยังมีการแบ่งชั้นคุณภาพผลน้อยหน่า 3 ชั้นคุณภาพ ได้แก่ ชั้นพิเศษ(Extra class) ชั้นหนึ่ง และชั้นสอง ใช้ร่วมกับข้อกำหนดเรื่องขนาดของผลน้อยหน่า   ซึ่งคู่ค้าสามารถกำหนดเป็นชั้นทางการค้าได้

นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดด้านการบรรจุสินค้า การแสดงเครื่องหมายและฉลากสินค้า ตลอดจนปริมาณสารปนเปื้อนและสารพิษตกค้าง  สุขลักษณะ และวิธีวิเคราะห์และการชักตัวอย่างเพื่อตรวจสอบคุณภาพสินค้าด้วย” รองเลขาธิการ มกอช.กล่าว และคาดว่า จะเป็นแนวปฏิบัติสำหรับเกษตรกรในการผลิตสินค้าน้อยหน่าให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัยป้อนให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับสินค้าน้อยหน่าของไทยในตลาดต่างประเทศด้วย

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง