จับตาเปิดช่องทุจริตโครงการบริหารจัดการน้ำ
เสียงคัดค้านทั้งจากเครือข่ายประชาชน และวิศวกรรมสถานฯ จนนำไปสู่การฟ้องศาลปกครอง ให้ชะลอการประมูล เพราะกระบวนการ อาจขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 ว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน ก่อนดำเนินโครงการ อันอาจเกิดผลกระทบ
คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ และอุทกภัย หรือ กบอ. จึงเตรียมประมูลด้วยวิธีปกติ เพื่อว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาควบคุมโครงการ ออกแบบ และก่อสร้าง หรือ PMEC 4 กลุ่มงานหลัก และ 6 กลุ่มโครงการย่อย วงเงิน กว่า 8,000ล้านบาท ตลอดจน ว่าจ้างสถานศึกษา วงเงิน 100 ล้านบาท กำกับการทำงานของบริษัทผู้ชนะประมูล ทั้ง 4 กลุ่มบริษัท โดยไม่จำกัดมูลค่าผลงาน และเปิดโอกาสให้บริษัทไทยและต่างชาติเข้าร่วมประมูลอย่างเต็มที่ คาดว่า จะเปิดให้รับทีโออาร์ ในอีก 45-60 วัน
นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินดังกล่าว อาจกลายเป็นตราประทับความถูกต้องโครงการ ซึ่งข้ามขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสม และผลกระทบ ซึ่งเบื้องต้น จึงได้หารือกับคณบดีมหาวิทยาลัย เพื่อปฏิเสธเข้าร่วมประมูล
นอกจากนี้ นักวิชาการ กล่าวต่ออีกว่า เป็นห่วงโครงการก่อสร้างทางผันน้ำ หรือ ฟลัด ไดเวอร์ชั่น ชาแนล ซึ่งบริษัทที่ปรึกษา ต้องบูรณาการร่วมกับแผนการก่อสร้างโครงการคมนาคม 2 ล้านล้านบาทด้วย มิฉะนั้น จะกระทบต่อระบบนิเวศน์ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาครั้งใหญ่
สอดคล้องกับ ผู้บริหารบริษัทที่ปรึกษาโครงการจัดการน้ำผู้นี้ แนะให้ กบอ.ออกทีโออาร์ โดยให้ความสำคัญกับการป้องกันปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ระหว่างผู้ชนะประมูล และบริษัทที่ปรึกษา แต่ยอมรับว่า สนใจจะเข้าร่วมประมูล แม้อาจกลายเป็นตราประทับความถูกต้องตาม
กระบวนการศึกษา และออกแบบ ในสัญญาว่าจ้างขั้นต้นจะเป็นบทพิสูจน์เจตนาของรัฐบาลที่จะใช้เงื่อนไข ในพระราชกำหนดฉบับนี้ ลดอุปสรรคและ บูรณาการ เพื่อแก้ไขปัญหาระบบบริหารจัดการน้ำในประเทศ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง หรือเป็นการกระจายงบประมาณไปยังกลุ่มผลประโยชน์ และเครือข่ายหรือไม่ หลังคณะรัฐมนตรี อนุมัติแผนการกู้เงินแล้ว