เลขาธิการ กสทช. ชี้แจงประเด็นร่างประกาศ
เร่งทำความ เข้าใจ เหตุกสทช. ประกาศกรณี สัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. ....
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เผยถึงรายละเอียดการพิจารณา (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. ... ของที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 6/2556 วันพุธที่ 19 มิถุนายน 2556ที่ผ่านมาว่า ได้มีมติเห็นชอบและให้นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเป็นวาระที่มีการพิจารณาและให้ความเห็นอย่างกว้างขวาง
กรณีนี้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องนับแต่ที่ กสทช.ได้เข้ามารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2554 เนื่องจากเป็นการสิ้นสัญญาสัมปทานครั้งแรกของประเทศไทย และยังส่งผลถึงลูกค้าที่ยังใช้บริการเครือข่ายนี้อยู่ ทำอย่างไรให้ผู้ใช้บริการไม่ได้รับผลกระทบจากการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานจนถึงช่วงเวลาการประมูลคลื่นความถี่แล้วเสร็จ เรื่องนี้ได้มีหารือกฤษฎีกา อัยการ กระทรวงการคลัง มีการสอบถามข้อมูลจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด ร่วมกันหลายครั้งในช่วงเวลาที่ผ่านมา
ทั้งนี้นายแก้วสรร อติโพธิ หนึ่งในคณะทำงานฯ ชี้แจงความจำเป็นและหลัการของ (ร่าง) ประกาศดังกล่าวว่า เป็นการดำเนินการโดยคำนึงถึงกฎหมาย การคุ้มครองประชาชนผู้บริโภคและระยะเวลาที่สัมปทานจะสิ้นสุด ในวันที่ 15 กันยายน 2556 ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดมาตรการ และเป็นการเตรียมการรองรับผลของการสิ้นสุดของการอนุญาต สัมปทาน หรือ สัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่องปราศจากข้อจำกัด ในระหว่างที่การจัดสรรคลื่นความถี่ดังกล่าวแก่ผู้รับใบอนุญาตรายใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 27 (4) (6) และ(13) ประกอบกับมาตรา 83 และมาตรา 84 แห่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และมาตรา 20 แห่งพ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ในการออกประกาศฉบับนี้
ทั้งนี้ มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตาม (ร่าง) ประกาศฯ ไม่ใช่การต่ออายุสัมปทาน และไม่ใช่การจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ตามมาตรา 45 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 แต่เป็นการกำกับดูแลเพื่อให้ผู้ใช้บริการไม่ได้รับผลกระทบจากการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน และมีเงื่อนไขไม่ให้ผู้ประกอบการรับลูกค้ารายใหม่ และให้ผู้ประกอบการเร่งโอนย้ายผู้ใช้บริการให้เสร็จภายในช่วงเวลาคุ้มครอง ซึ่งต้องไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน
เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า สำหรับการคุ้มครองผู้บริโภค (ร่าง) ประกาศฉบับนี้ กำหนดให้ผู้บริการให้เร่งการโอนย้ายผู้ใช้บริการไปเครือข่ายอื่น และยังคงต้องดูแลเรื่องคุณภาพบริการให้ได้คุณภาพ คิดค่าบริการตามประกาศที่เกี่ยวข้อง สำหรับผู้ใช้บริการคงเหลือที่ไม่แจ้งความประสงค์จะขอย้ายไปยังผู้ให้บริการรายอื่น โดยผู้ให้บริการต้องประชาสัมพันธ์แจ้งเงื่อนไขความคุ้มครอง กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดความคุ้มครอง และการโอนย้ายเครือข่ายให้ผู้ใช้บริการทราบอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ห้ามไม่ให้ผู้ให้บริการรับลูกค้ารายใหม่
ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับรายได้และมาตรชดเชยผู้บริโภคในช่วงเวลาดังกล่าว ที่ประชุมเห็นควรฝากอาจารย์แก้วสรรให้รับฟังความคิดเห็นประชาชนในเรื่องนี้เพื่อเป็นแนวทางการพิจารณาตัดสิน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างแท้จริง และ การที่ กสทช. มีมติผ่านร่างประกาศฉบับนี้ก็เพื่อให้ทันการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 15 กันยายน 2556 ที่ถึงนี้ ซึ่งในขั้นตอนของการรับฟังความคิดเห็นอยากให้ประชาชนผู้ใช้บริการอันจะได้รับผลกระทบจากการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องมาให้ความคิดเห็นเพื่อ กสทช. จะได้นำเอาความคิดเห็นเหล่านั้นมาปรับปรุงร่างให้เกิดความสมบูรณ์ ครอบคลุม และสามารถคุ้มครองประชาชนผู้บริโภคได้อย่างครบถ้วน