นายสุพัฒน์ คล้ายแจ้ง ชาวนาตำบลเกยไชย อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ว่าจ้างแรงงานให้คอยดูแลเอาใจใส่นาข้าวสายพันธุ์ญี่ปุ่นที่ปลูกไว้ 7 ไร่อย่างใกล้ชิด เพราะอีก 50 วันข้างหน้าจะเก็บเกี่ยวโดยคาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับครอบครัว การปลูกข้าวสายพันธุ์ญี่ปุ่นครั้งนี้เป็นฤดูกาลที่ 2 ของสุพัฒน์ หลังมีนายหน้าชาวญี่ปุ่นมาติดต่อให้ปลูกข้าว และรับซื้อข้าวทุกเมล็ด แม้ข้าวญี่ปุ่นจะให้ผลิตต่อไร่น้อยกว่าข้าวไทย แต่ไม่ถูกเอาเปรียบโดยเฉพาะการถูกกดราคาและลดค่าความชื้นจากโรงสี
ราคาข้าวสายพันธุ์ญี่ปุ่นที่ให้ถึงตันละ 15,000 บาท เมื่อเทียบกับการปลูกข้าวพันธุ์ไทยและเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวของรัฐที่ให้ตันละ 15,000 บาทเท่ากัน แต่เมื่อถูกหักความชื้นและคุณภาพทำให้ได้รับเงินน้อยลง ประกอบกับขั้นตอนการเบิกจ่ายเงินที่ล่าช้าทำให้ชาวนาหลายครอบครัวในจังหวัดนครสวรรค์ เริ่มคิดเปลี่ยนไปปลูกข้าวสายพันธุ์ญี่ปุ่นแทน
จากการศึกษาของเครือข่ายโรงเรียนชาวนาจังหวัดนครสวรรค์พบว่า การเลือกปลูกข้าญี่ปุ่นแทนข้าวพันธุ์ไทย เป็นทางเลือกอย่างหนึ่งของชาวนา เพราะไม่กระทบกับข้าวสายพันธุ์ของไทย นอกจากนั้นตัดขั้นตอนที่ซับซ้อนล่าช้ากว่าจะได้เงิน และไม่ถูกสังคมมองว่าเป็นกลุ่มอาชีพที่ต้องพึ่งพาแต่รัฐ จนนำมาด้วยการทุจริตคอรัปชั่น รัฐต้องสูญเสียเงินจำนวนมาก
สำหรับข้าวพันธุ์ ก.ว.ก.1 และ ก.ว.ก.2 หรือพันธุ์ อะกิตะ โกมาชิ เป็นข้าวที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการวิจัยและพัฒนา กรมวิชาการเกษตรให้เป็นพันธุ์แนะนำให้ชาวบ้านปลูกมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2538 โดยขณะนี้จังหวัดนครสวรรค์ มีกลุ่มนายทุนกำลังหาแนวร่วมผลิตข้าวสายพันธุ์นี้นับแสนไร่ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งของชาวนา ในการปรับเปลี่ยนวิธีและสายพันธุ์การปลูก เพื่อความอยู่รอด แทนการรอความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเดียว