26 มิ.ย.วันต่อต้านการทรมานสากล เพื่อลดปัญหาผู้ต้องหาถูกซ้อมทรมานให้รับสารภาพ
รอยแผลเป็นที่ต้นแขนซ้ายเป็นเพียงหลักฐานเดียวที่หลงเหลือไว้ให้ผู้เสียหายคนนี้จดจำว่า ครั้งหนึ่งเขาเคยถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับตัวไป และถูกซ้อมเพื่อให้เขาลงชื่อยอมรับข้อกล่าวหา ที่แม้แต่ตัวเขายังไม่ทราบด้วยว่า เขาถูกจับในความผิดในข้อหาใด
ผู้เสียหายคนนี้เป็นเพียงหนึ่งในผู้เสียหายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ เคยถูกเจ้าหน้าที่ภาครัฐควบคุมตัวในค่ายทหาร และกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 รวม 34 วัน ผลของถูกซ้อมและทรมานแทบทุกวัน ทำให้เขาต้องเซ็นต์ยอมรับสารภาพในข้อกล่าวหาและต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 3 ปี
นักวิชาการด้านกฎหมายระบุว่า หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนจะเสนอให้ทุกประเทศทบทวนการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการบังคับหรือซ้อมทรมานผู้เสียหายเพื่อให้ยอมรับสารภาพ เป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนใดในกระบวนการยุติธรรมก็ตาม
วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันครบรอบสมัชชาใหญ่ สหประชาชาติ ได้รับรองอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาการต่อต้านทรมานนี้ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 ทำให้ไทยมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตามหลักการของอนุสัญญาฯ เช่น การเยียวยาผู้เสียหาย การรับรองสิทธิในการเข้าถึงความยฺุติธรรมกรณีถูกทรมาน และการดำเนินคดีอาญากับผู้ต้องหากรณีกระทำความผิดในข้อหาทรมาน