การจำคุกแบร์ลุสโคนีในหนัง
คำตัดสินให้จำคุก 7 ปี และห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี ได้รับจากคดีพรากผู้เยาว์ นับเป็นบทลงโทษที่รุนแรงเกินกว่าทางอัยการร้องขอ และสร้างความแปลกใจให้กับหลายฝ่าย แต่ไม่ใช่กับ แนนนี มอเร็ตติ ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังของอิตาลี ที่เคยพยากรณ์เหตุการณ์นี้เอาไว้ในภาพยนตร์ปี 2006 เรื่อง Il Caimano หรือ The Caiman ซึ่งแบร์ลุสโคนีในหนังเรื่องนั้นก็ถูกจำคุกมากกว่าที่อัยการร้องขอเป็นเวลา 7 ปี และห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมืองตลอดชีวิต
Il Caimano เป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับนักสร้างหนังผู้ต้องการตีแผ่ชีวิตของอดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลี 3 สมัย ผู้ใช้สื่อเป็นเครื่องมือสร้างอำนาจ ความคล้ายกันระหว่างหนัง และเรื่องจริงมีทั้งเรื่องดำเนินคดีในข้อหาใช้อำนาจในทางมิชอบ ใช้อัยการฟ้องร้องเป็นสุภาพสตรีเหมือนกัน
แม้อิตาลีจะเป็นประเทศที่อัยการส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย รวมถึงข้อร้องเรียนฝ่ายจำเลยที่ใช้แท็คติกในการยื้อการตัดสินคดีออกไปเป็นเวลา 5 ปี ขณะที่ทีมกฎหมายของแบร์ลุสโคนีตัวจริงก็ทำให้การตัดสินคดียืดเยื้อไปเป็นเวลา 4 ปีเช่นกัน แต่สิ่งที่แตกต่างคือขณะที่ผู้พิพากษาในหนังถูกผู้สนับสนุนแบร์ลุสโคนีประท้วงคำตัดสินด้วยการขว้างปาข้าวของ แต่คำตัดสินในชีวิตจริงได้รับการสนับสนุนอย่างดีโดยประชาชนที่พอใจกับความยุติธรรมที่เกิดขึ้น
Il Caimano ออกฉายในอิตาลีช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2006 ไม่นาน ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นการชี้นำทางการเมือง และส่งผลต่อความพ่ายแพ้ของแบร์ลุสโคนีในการเลือกตั้งครั้งนั้น แต่หนังก็ประสบความสำเร็จในการเข้าชิงปาล์มทองคำในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ และกลายเป็นหนึ่งในหนังที่ประสบความสำเร็จที่สุดในอิตาลีปีนั้น
ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเด็นในหนังของ แนนนี มอเร็ตติ ผู้กำกับชิงปาล์มทองคำ 6 สมัยจะกลายเป็นจริง โดยผลงานเมื่อ 2 ปีก่อนเรื่อง We Have a Pope ที่เล่าถึงการอำลาตำแหน่งของพระสันตะปาปาที่ไม่สามารถแบกรับความเครียดจากการเป็นผู้นำโลกคาทอลิกได้ ซึ่งถูกเชื่อมโยงไปถึงการลงจากตำแหน่งของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 เมื่อต้นปีนี้ หลังถูกรุมเร้าด้วยข้อหาปิดบังข้อมูลการละเมิดทางเพศเด็กชายที่เกิดขึ้นโดยบาทหลวงในนิกายคาทอลิกเป็นเวลาหลายปี