ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ยุคสมัยเปลี่ยน วิถีชีวิตคนเปลี่ยน

26 มิ.ย. 56
08:27
462
Logo Thai PBS
ยุคสมัยเปลี่ยน  วิถีชีวิตคนเปลี่ยน

วัฒนธรรรมไทยดั้งเดิมเริ่มเลือนหาย.... “ความทันสมัย” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน “คนรุ่นหลัง” มีโอกาสไม่มากนักที่จะได้รับรู้และสัมผัสบรรยากาศ “ความเป็นไทย” ที่มีในอดีต....

 ในงาน “สวน สุข ศิลป์” ศิลป์ในสวน ได้ชวนคนไทยกลางกรุงหวนรำลึกถึงบรรยากาศความเป็นไทยในอดีต ด้วยการ ชมศิลป์ไทย ร้องเพลงไทย เล่นอย่างไทย กินอาหารไทย แต่งชุดไทย ภายใต้ชื่องานว่า“อะไรก็ไทย” เพราะเราคือคนไทย...

 
จัดขึ้นด้วยความร่วมมือของศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ และภาคีเครือข่ายศิลปวัฒนธรรม ที่เน้นนำเสนอกิจกรรมที่บ่งบอกความเป็นไทย ทั้งการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยในแต่ละภูมิภาค การแข่งขันร้องเพลงไทยสุนทราภรณ์ การแสดงโขนจากสถาบันคึกฤทธิ์ การแสดงพื้นบ้านต่างๆ ที่หาชมได้ยาก เช่น รำไทย มโนราห์ กลองยาว กระบี่กระบอง รวมถึงกิจกรรมที่นำเอา “เพลงฉ่อยมาปะทะเพลงแร็พ” ซึ่งศิลปวัฒนธรรมไทยมาผสมผสานกับวัฒนธรรมของต่างประเทศที่สามารถเข้ากันได้อย่างลงตัว สร้างรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และเสียงปรบมือให้ดังสนั่นได้ตลอดการแสดง
 
นายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกว่า งาน “สวน สุข ศิลป์” ศิลป์ในสวน นี้เกิดขึ้นเพื่อต้องการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ พื้นที่สาธารณะร่วมกับชุมชนโดยพัฒนาต้นแบบขึ้นมา ให้ชุมชน เทศบาล อบต.อื่นๆ ได้พัฒนาชุดความคิดที่จะเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ มีองค์ประกอบของพื้นที่สร้างสรรค์ที่อยากเห็น ซึ่งเน้นจัดให้ตรงกับวันหยุด หรือในวันว่างที่คนในครอบครัวจะได้มาทำกิจกรรมสร้างสรรค์ด้วยงานศิลปะและวัฒนธรรมร่วมกัน เน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็ก-เยาวชนและครอบครัวให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น เพราะหัวใจของพื้นที่สร้างสรรค์คือการแบ่งปัน เรียนรู้ และมีความเป็นเจ้าของ ทั้ง 3 ส่วนนี้หากมีการเปิดพื้นที่ให้ทุกคนสามารถแบ่งปันกันได้ ทุกคนมีของดีอยากมาแลกเปลี่ยน และทุกคนอยากเป็นเจ้าของร่วม ที่ไม่เพียงแค่เป็นเพียงผู้ชมเฉยๆ แต่ลุกขึ้นมาเป็นผู้แสดงร่วมด้วย
 
 “ครั้งนี้เน้นการอนุรักษ์วัฒนธรรมอันดีงามของไทย ที่อาจแสดงออกทางกายภาพ ด้วยเสื้อผ้า การแต่งกาย ด้วยภาษา ด้วยกิริยามารยาท และการละเล่นอย่าง “ว่าวที่เราชอบเล่น” ที่เป็นกิจกรรมสอนและสาธิตการเล่นว่าว, กิจกรรม “โขกเขกเขย่งในสวน” ที่เน้นสอนและสาธิตเดินโยกเยก, กิจกรรม “มอญซ่อนผ้า อ่ะอะไรอยู่ข้างหลัง” เป็นการสาธิตการละเล่นมอญซ่อนผ้า และ กิจกรรม “ปัง ปัง ปัง ปืนดังจากก้านกล้วย” ที่สอนและสาธิตการทำปืนจากก้านกล้วย และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการนำร่องกิจกรรมเพื่อเป็นต้นแบบให้กับชุมชน แน่นอนหากในครั้งต่อๆ ไปในระยะยาวหากชุมชนรู้สึกว่าสามารถจัดงานได้ด้วยตัวเองแล้ว ก็อยากให้ชุมชนมีบทบาทในการจัดงานด้วยพลังของชุมชนเอง และร่วมเป็นเจ้าของกิจกรรมมากขึ้น” ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมฯ บอก
 
นายสุนัย มันตานุรักษ์ ที่ปรึกษาเครือข่ายเยาวชนจอมทอง บอกว่า กิจกรรมนี้นอกจากจะเป็นกิจกรรมที่ช่วยสานสัมพันธ์คนในชุมชน 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนบ้านมั่นคงสวนพลู ชุมชนหน้าสมาคมธรรมศาสตร์ และชุมชนบ้านเอื้ออาทร ให้ได้ทำกิจกรรมร่วมกันก่อให้เกิดความรักความสามัคคีกันแล้วเด็กๆ ก็ได้สร้างเครือข่ายเพื่อนต่างชุมชน ซึ่งเมื่อเด็กโตขึ้นก็จะสามารถดูแลชุมชน และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีต่อไปได้ อีกทั้งสถานที่จัดงานเป็นสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติฯ 80พรรษา และศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. เป็นสถานที่ที่เหมาะสม เพราะสวนสาธารณะส่วนมากเหมือนจะเป็นพื้นที่ปิด ในบางครั้งถ้าจะใช้พื้นที่เพื่อจัดกิจกรรมในลักษณะนี้มักจะไม่ค่อยให้จัด ไม่ให้มาวุ่นวาย ถือเป็นความโชคดีของเยาวชนและชุมชนที่ที่มีผู้ใหญ่ใจดีมาอยู่ใกล้ๆ ตรงนี้ เยาวชนจึงมีโอกาสได้รับทั้งความรู้ และความเพลิดเพลินไปในเวลาเดียวกัน ในอนาคตหวังว่าการจัดงานนี้จะกลายเป็นต้นแบบให้เกิดกิจกรรมในสวนอย่างกว้างขวางขึ้น
 
ส่วนต้า หรือ นางสาวปานทิพย์ ลิกขะไชย รองประธานชมรมเกสรลำพู หนึ่งในภาคีที่มาจัดกิจกรรม บอกว่า จากการทำงานที่ผ่านมาชมรมเกสรลำพูได้รวมกลุ่มเยาวชนในชุมชนมาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันเพื่อพัฒนาชุมชนในทุกๆ ด้าน อาทิ  วิถีชีวิตและประวัติศาสตร์ชุมชน ด้วยการดึงของดีในแต่ละชุมชนมาสืบทอดผ่านงาน การแสดง หรือนิทรรศการ ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ต้องรักษาเอาไว้เพื่อไม่ให้สูญหาย สำหรับในงาน“สวน สุข ศิลป์” ศิลป์ในสวน ชมรมเกสรลำพูได้นำข้าวต้มน้ำวุ้น (ข้าวเหนียวสามเหลี่ยม) ของดีที่มีอยู่ในชุมชนวัดสามพญา ที่ในอดีตทุกบ้านจะออกมานั่งห่อข้าวเหนียวด้วยใบตอง แต่ปัจจุบันเหลือเพียงเจ้าเดียวแล้ว การนำเอาข้าวต้มน้ำวุ้นออกมาแสดงในครั้งนี้นอกจากจะทำให้คนอื่นได้เห็น ได้ชิม แล้วเชื่อว่าจะทำให้เด็ก-เยาวชนได้เห็นได้รู้จักไปด้วยในตัว ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเชื่อว่าเด็กสมัยนี้ไม่ค่อยมีใครรู้จัก
 
รองประธานชมรมเกสรลำพู บอกว่า นอกจากนี้ยังมีการทำดอกไม้สด พวงดอกไม้ บูเก้จากผลมะกรูด จากชุมชนวัดใหม่อมตรส มาแสดงและสาธิตสอนวิธีการทำด้วยการนำวัสดุใกล้ตัว เช่น มะกรูด ดอกรัก ดอกบานไม่รู้โรย ใบเตย มาตกแต่งทำให้เกิดเป็นสิ่งของที่ทรงคุณค่าและสามารถใช้เป็นเครื่องหอมได้อีกด้วย รวมทั้งกิจกรรมสาธิตการเล่นว่าว การสอนและสาธิตเดินโยกเยก การละเล่นมอญซ่อนผ้า สาธิตปืนจากก้านกล้วย นี่เป็นเพียงบางอย่างที่ทางบางลำพูนำมาเสนอในงาน 
 
บรรยากาศในงานเป็นไปอย่างอบอุ่น เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะและรอยยิ้มจากเด็กๆ ในชุมชนที่ได้มีโอกาสสัมผัสกับการละเล่นพื้นบ้านแบบไทย รวมทั้งได้ชมการแสดงไทยๆ จากเวทีการแสดง และต่างร่วมกันแต่งกายชุดไทยมาร่วมงาน  นับว่ากิจกรรม “สวน สุข ศิลป์” ศิลป์ในสวน ตอน อะไรก็ไทย ที่นำมาซึ่งความสุขของคนทุกวัย เป็นกิจกรรมในวันหยุดที่สมาชิกทุกคนสามารถมีส่วนร่วมจากความเป็นไทยที่หาได้ยากในยุคปัจจุบัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง