กมธ.เศรษฐกิจ สั่งสอบย้อนหลังข้าวเสื่อมสภาพในโครงการข้าวถุงของรัฐบาล
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กรมการค้าภายใน และองค์การคลังสินค้า หรือ อคส.เป็นตัวแทนชี้แจงการผลิตข้าวถุง ต่อคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร โดยตัวแทนยอมรับว่าข้าวเน่าเสียบางส่วน อาจเกิดจากความบกพร่องระหว่างขนส่ง และการบริหารสต็อกของร้านค้า
แต่ตัวแทนทั้ง 2 หน่วยงานไม่สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับขั้นตอนการผลิตข้าวถุง และความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทปรับปรุงคุณภาพข้าว เซอร์เวย์เยอร์ และผู้ดูแลคลังเก็บข้าว ซึ่งอาจฮั้วกัน นำข้าวเก่าเวียนเทียนมาผลิตข้าวถุงราคาถูก คณะกรรมาธิการ จึงสั่งให้ทั้ง 2 หน่วยงานส่งสำเนาประกาศคัดเลือกบริษัทปรับปรุงคุณภาพข้าว และ สัญญาว่าจ้าง เพื่อย้อนรอยสืบหาข้อเท็จจริง พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทปรับปรุงข้าวบางราย มีประวัติทุจริต แต่กลับได้รับการคัดเลือก ทำให้ผู้บริโภคอาจได้ข้าวถุงคุณภาพต่ำ ซึ่งกรรมาธิการจะตรวจสอบเรื่องนี้ จนถึงที่สุด
คณะกรรมการนโยบายข้าว หรือ กขช. อนุมัติกรอบการระบายข้าวในประเทศ เพื่อผลิตเป็นข้าวถุง ตั้งแต่ เดือนตุลาคม 2554 ถึงเดือนมีนาคม 2556 จำนวน 7 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 250,000 ตัน โดย อคส. ซื้อข้าวในโครงการรับจำนำมา ในราคาตันละ 7,625 บาท และเปิดประมูลให้บริษัทเอกชน เข้าปรับปรุงคุณภาพข้าว เพื่อผลิตข้าวถุง
ซึ่งบริษัทที่ชนะประมูล 6 บริษัท เบิกข้าวกว่า 900,000 ตัน เพื่อผลิตข้าวถุงให้ร้านถูกใจ และข้าวถุงธงฟ้า แต่มียอดจำหน่ายเพียง 538,000 ตัน บางส่วนมีปัญหาข้าวเสื่อมสภาพ และยังมีข้าวหายอีกเกือบ 2 ล้านตัน
ปัญหาทุจริตในทุกขั้นตอนของโครงการรับจำนำข้าว ทำให้องค์กรต่อต้านการคอร์รัปชั่น แห่งประเทศไทย เสนอแนวทาง 4 ข้อ ทั้งให้มีตรวจสอบทุกขั้นตอน นำผู้กระทำผิดมาลงโทษ เปิดเผยข้อมูลราคา, ปริมาณข้าว และการระบาย เพื่อความโปร่งใส เนื่องจากข้าวทั้งหมดถือเป็นสมบัติของชาติ พร้อมแนะให้เปลี่ยนวิธีการดำเนินโครงการ โดยประมูลขายข้าวเปลือกเป็นล็อตเล็กๆ ไม่ต้องเก็บสต็อก เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ และการเวียนเทียนจำหน่ายข้าว รวมทั้งให้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือชาวนา