ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

องค์กรเอกชนเกาหลีใต้เผย "เค วอเตอร์" มีหนี้ท่วมบริษัท คาดปัญหาการเงินกระทบแผนจัดการน้ำ

การเมือง
27 มิ.ย. 56
04:20
103
Logo Thai PBS
องค์กรเอกชนเกาหลีใต้เผย "เค วอเตอร์" มีหนี้ท่วมบริษัท คาดปัญหาการเงินกระทบแผนจัดการน้ำ

นอกเหนือจากคำตัดสินของศาลปกครองในวันนี้ (27 มิ.ย.)แล้ว ก็คือ กรณีที่นักวิชาการสิ่งแวดล้อมจากประเทศเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า บริษัทเค วอเตอร์ ซึ่งเป็นผู้ชนะงานประมูลมีปัญหาฐานะการเงิน จึงไม่น่าจะมีประสบการณ์และศักยภาพทำโครงการขนาดใหญ่อย่างนี้ ขณะที่กรรมการผู้จัดการบริษัทเค วอเตอร์ เมื่อวานนี้ (26 มิ.ย.)ได้ออกมาชี้แจงว่าประเด็นต่าง ๆ ไม่เป็นความจริง โดยทุกโครงการที่กำลังจะเกิดจะมีการลงพื้นที่เพื่อรับฟังข้อมูลจากนักวิชาการและผู้ได้รับผลกระทบแน่นอน

นายยัม ยุง โซ ผู้อำนวยการสมาพันธ์สิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้ ซึ่งติดตามการทำงานของบริษัท เค วอเตอร์ ผู้ประมูลระบบฟลัดเวย์ และทำพื้นที่แก้มลิงในงบประมาณ 163,000 บาท ระบุว่า การทำงานของเค วอเตอร์ที่ผ่านมาในการทำฟลัดเวย์ เพื่อเป็นคลองระบายน้ำระยะทาง 18 กิโลเมตร กว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จใช้เวลาศึกษา 10 ปี ฉะนั้นโมดูล A3 แก้มลิง ที่เค วอเตอร์ ได้รับคัดเลือก จึงเชื่อมั่นว่าดำเนินการไม่ได้ เนื่องจากไม่มีประสบการณ์บริหารพื้นที่ขนาดใหญ่กว่าล้านไร่เช่นนี้ เพราะเค วอเตอร์ ดำเนินการด้านการก่อสร้างเขื่อนและระบบระบายน้ำในพื้นที่ขนาดเล็กเท่านั้น และที่ผ่านมาโครงการขนาดใหญ่ดังกล่าว คนในเกาหลีใต้ก็ไม่รับทราบข้อมูลเรื่องนี้เลย

นายยัม ยังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ในเกาหลีใต้ของเค วอเตอร์ จะปิดข้อมูลเป็นความลับ ไม่เปิดเผยให้ประชาชนมีส่วนร่วม และเคยเกิดปัญหาติดสินบน ไม่มีการทำการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน แต่กลับสามารถดำเนินโครงการได้ เพราะผู้บริหารหรือซีอีโอบริษัท มาจากนักการเมืองและแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี

นอกจากนั้นยังตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลไทยอาจไปตกลง หรือมีเงื่อนไขพิเศษไว้รัฐบาลเกาหลีหรือไม่ เพราะขณะนี้สถานการณ์ด้านการเงินของเค วอเตอร์ ย่ำแย่ หนี้ท่วมสูงขึ้นกว่า 700% ดังนั้นจึงเชื่อว่าบริษัทเค วอเตอร์ ไม่มีศักยภาพพอทำโครงการขนาดใหญ่นี้ได้

นายกมล เปี่ยมสมบูรณ์ ประธานสภาเครือข่ายลุ่มน้ำท่าจีน กล่าวว่า จากสถานะการเงินที่แย่ลงของเควอเตอร์นั้น สะท้อนให้เห็นชัดว่าไม่เหมาะสมแก่การรับดำเนินโครงการเส้นทางผันน้ำ สร้างฟลัดเวย์ และโครงการขุดลอกคลองบงส่วนในแผนโมดูล A5 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่แม่น้ำสายสำคัญ เช่น แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำเจ้าพระยา และท่าจีน ในภาคตะวันตก และปริมณฑล เพราะแม้แต่โครงการในประเทศยังมีความเสียหายมหาศาลแล้ว หากปล่อยให้ดำเนินย่อมไม่เกิดผลดี

ขณะที่นายมณฑล ภาณุโภคิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เควอเตอร์ ชี้แจงว่า บริษัท เควอเตอร์ เป็นรัฐวิสาหกิจที่เชื่อถือได้ และเป็นบริษัทฯที่มีประสบการณ์ ในการก่อสร้างเขื่อนและวางระบบบริหารจัดการน้ำ

พร้อมยืนยันว่า ทุกโครงการมีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน และได้ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทุกโครงการ ส่วนโครงการที่ชนะการประมูลในสัญญา A 3 และ A 5 หลังจากเซ็นสัญญาแล้ว ก็จะดำเนินการศึกษารายละเอียดทั้งหมด และทุกอย่างต้องนับหนึ่งใหม่ เพื่อสิ่งที่ชัดเจนและถูกต้องที่สุด

ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การออกมาชี้แจงของนายยัม ยุง โซ ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และอยากจะตั้งข้อสังเกตไปยังรัฐบาลว่า ได้ทราบข้อมูลมาก่อนหรือไม่ และขณะที่มีการยื่นเรื่องรัฐบาลได้ตรวจสอบสถานะการเงิน และการทำงานในอดีต ของบริษัท เค วอเตอร์ หรือไม่ ทั้งนี้ขอให้นายกรัฐมนตรี ตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้โครงการบริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาท เป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด และไม่ควรมอบให้นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ที่รับผิดชอบโครงการนี้เป็นผู้ดำเนินการ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง