ชงเรื่องร้องเรียน ส่งกสทช. ยังอืด หนุนภาคประชาสังคมร่วมออกแบบหน้าตาทีวีสาธารณะ
ประชาสังคมภาคใต้ เจอเรื่องร้องเรียนช้าชี้หน่วยงานกำกับดูแลจำกัดตัวเองทำงานอยู่แต่ในกรอบ ด้านวิทยุโทรทัศน์ เตือนอย่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ กสทช.เท่านั้น
กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิเสรีภาพของประชาชน ลงพื้นที่สงขลา ร่วมเสวนากับเครือข่ายที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา และนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้จัดเวทีเสวนาร่วมกับเครือข่ายประชาสังคมภาคใต้ โดยมีเครือข่ายภาคประชาชนหลากหลายด้าน เช่น ด้านคุ้มครองผู้บริโภคโทรคมนาคมและวิทยุโทรทัศน์ ด้านพลังงาน ด้านเกษตร สิ่งแวดล้อม รวมถึงสื่อท้องถิ่น ทั้งจากจังหวัดสงขลา ยะลา ชุมพร นครศรีธรรมราช กระบี่ สุราษฎร์ ปัตตานี สตูล เข้าร่วม
นายประวิทย์ กล่าวว่า เครือข่ายภาคประชาชนเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนทางสังคม และจำเป็นต้องเป็นเครือข่ายที่มีความหลากหลายจากทุกภาคส่วน เป็นกลุ่มตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นไม่ใช่กลุ่มจัดตั้ง ที่สำคัญคือเป็นกลุ่มที่ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงจากกลุ่มธุรกิจใดๆ แต่เป็นผู้ที่ทำงานเพื่อภาคประชาชน ทั้งนี้ในระหว่างการเสวนา ตัวแทนเครือข่ายด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ได้สอบถามถึงแนวทางการจัดการเรื่องร้องเรียนที่ควรจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายประวิทย์กล่าวว่า การจัดการเรื่องร้องเรียนที่เครือข่ายพบว่ายังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการนั้น ตามกฎหมายหมายได้ให้สิทธิผู้บริโภค ตรวจสอบ สำนักงาน กสทช. และกสทช.ได้ด้วย เช่น การแก้ไขเรื่องร้องเรียนต้องแล้วเสร็จภายใน ๓๐ วัน หรืออาจเสนอความเห็น สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นกับอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ได้ เช่น กรณีเรื่องร้องเรียนจำนวน ๓๐๐ กว่าเรื่องที่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่เข้าสู่ที่ประชุม กทค. ทั้งที่ผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการฯ มานานแล้ว ซึ่งเครือข่ายผู้บริโภคสามารถเสนอความเห็นหรือแนวทางที่ควรจะเป็นร่วมกันได้ และยังพบว่า หน่วยงานกำกับดูแลของไทยจะมีประเด็นเรื่อง “งานนอกอำนาจ” ทำให้บางปัญหาที่คาบเกี่ยวหลายหน่วยงานนั้นเกิดพื้นที่สีเทาที่ไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปจัดการเพราะเกรงการก้าวล่วงอำนาจหน้าที่ผู้อื่น ต่างจากในต่างประเทศที่แม้กฎหมายจะมีการทับซ้อนของอำนาจหน้าที่กันแต่ไม่เกิดปัญหาในการดำเนินงาน
“ไทยมีประเด็นเรื่องช่องว่างระหว่างอำนาจหน้าที่ เนื่องจากไม่กล้าทำนอกอำนาจตัวเอง ปัญหาที่เห็นได้ชัดเช่น ตู้เติมเงิน มีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง แต่ต่างปฏิเสธว่าไม่ใช่หน้าที่โดยตรง สุดท้ายปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข” นายประวิทย์กล่าว
ด้านนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กล่าวว่า เนื่องจากในปีนี้จะมีการจัดสรรคลื่นโทรทัศน์ใหม่ เพื่อเปลี่ยนจากระบบทีวีอนาลอคเป็นทีวีดิจิตอล ภาคประชาสังคมควรร่วมกันจับตาดูว่า ช่องความถี่ซึ่งจัดสรรเป็นสถานีโทรทัศน์มากขึ้นถึง ๔๘ ช่องนั้นในเชิงความเป็นเจ้าของหรือการถือครองนั้นจะมีการกระจายจากภาครัฐมาสู่ภาคประชาชนจริงหรือไม่ ทั้งนี้ใน ๔๘ ช่องซึ่งจะเป็นช่องทีวีสาธารณะจำนวน ๑๒ ช่องนั้น เครือข่ายภาคประชาสังคมควรเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอความเห็นถึงรูปแบบของทีวีสาธารณะที่ควรจะเป็นนั้นควรมีหน้าตาอย่างไร เพราะทีวีสาธารณะไม่ได้หมายถึงช่องของหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น
“โอกาสมักมาพร้อมกับความเสี่ยงเสมอ ช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่า หากต้องมีช่องทีวีใหม่ที่เป็นฟรีทีวี เราจะปล่อยให้ กสทช. ออกแบบ หรือภาคประชาชนจะเข้ามีส่วนร่วมด้วย จึงอยากให้เครือข่ายร่วมออกมาแสดงความคิดเห็น เพราะเมื่อเสียงของฝ่ายที่ต้องการปฏิรูปสื่อเงียบ ก็ทำให้เสียงที่คิดต่างจากเราดังกว่า“ นางสาวสุภิญญากล่าว