ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

องคมนตรี ชี้ ไทยติดกับดัก 3 เรื่อง "ความน่าเชื่อถือรัฐไทย-ความเหลื่อมล้ำ-การสร้างคุณค่าเพิ่ม"

สังคม
4 ก.ค. 56
08:20
134
Logo Thai PBS
องคมนตรี ชี้ ไทยติดกับดัก 3 เรื่อง "ความน่าเชื่อถือรัฐไทย-ความเหลื่อมล้ำ-การสร้างคุณค่าเพิ่ม"

ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “จริยธรรมสื่อมวลชน” ว่า บ้านเมืองไทยตอนนี้มีปัญหา ซึ่งคนที่มีอายุมาก 60-80ปี เคยได้เห็นไทยอยู่แถวหน้าในอาเซียน ตอนนั้นรัฐบาลไทยเข้มแข็งมาก เมื่อเปรียบเทียบระหว่างประเทศต่อประเทศ มันเป็นความสัมพัทธ์ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา

 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เคยรับสั่งว่า ถ้าเรามีบ้านอยู่ที่ไหนแล้วเพื่อนบ้านเกเรมาก เราอาจย้ายบ้านหนีได้ แต่ประเทศไทยอยู่ตรงนี้ เราย้ายประเทศหนีไม่ได้

 
หากพูดถึงสมาชิกประเทศอาเซียน 10 ประเทศ เกี่ยวกับความพร้อมรับมือเปลี่ยนแปลงทั่วโลก ประเทศไทยมีความพร้อมมากกว่า เพียงแต่ว่าเราตั้งใจดีหรือไม่  ในการจัดการบริหารบ้านเมืองให้กลับมาเข้มแข็งอีก เหมือนที่รุ่นเก่าๆ เคยทำไว้เมื่อ 30-40 ปีก่อน ซึ่งเราเหนือกว่าเกาหลีใต้มาก แต่วันนี้ทุกคนรู้ว่า เกาหลีใต้ขึ้นไปสู่ระดับประเทศที่พัฒนาแล้ว สิงคโปร์ก็พัฒนาแล้ว นำหน้าไทยทุกอย่างไม่มีเหลือ มันเกิดอะไรขึ้นในไทย และอีกไม่กี่ปีพม่าอาจนำเราขึ้นไปก็ได้
 
วิธีวิเคราะห์ประเทศ นอกจากวิเคราะห์ตัวเองแล้ว ต้องเปรียบเทียบเพื่อนบ้านด้วย  เรื่องสื่อมวลชนก็เหมือนกัน ไม่ใช่พูดกันเฉพาะในไทย แต่ต้องพูดถึงสื่อในอาเซียน ซึ่งสื่อมวลชนเป็นเรื่องใหญ่มากไม่ว่าประเทศไหนก็ตาม ไทยมีสื่อเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 มีบางกอกรีคอร์ดเดอร์ จนถึงปัจจุบันนี้สื่อมวลชน เป็นองค์กร มีพันธกิจสำคัญมาก โดยเฉพาะเมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามาในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้สื่อได้แปลงวิธีเข้าหาผู้บริโภค ส่งผลต่ออิทธิพลวิธีคิดของคน
 
ที่ผ่านมาการนำเสนอเรื่องของสื่อมวลชน ระยะแรกตั้งแต่สมัยหมอบรัดเลย์ เป็นการให้ข่าวสาร มีสาระ หรือคือการสื่อสาระให้มวลชน ในรูปแบบการนำเสนอตั้งแต่การพิมพ์ กระทั่งวันนี้เป็นยุคดิจิตอล มีการนำเนื้อหาไปสู่ผู้บริโภค 3 ลักษณะ คือ  ยุคให้ผู้บริโภค บริโภคข่าวชุดเดียวกัน เป็นทั้งตะวันตกตะวันออก คือเอาข่าวมาเขียนเป็นรูปแบบเดียวกัน มีการแปลข่าวต่างประเทศ ที่มาจากสำนักเดียวกัน ถามว่า ทุกวันนี้ จะมีกี่สำนักพิมพ์ที่เป็นเจ้าของข่าวเอง  แต่ขณะนี้ญี่ปุ่น พยายามหนีอยู่ และจีนก็กำลังทำ    
 
สอง เป็นยุคข่าวเฉพาะกลุ่มผู้บริโภค แบ่งข่าวเป็นกลุ่ม ทั้งการเมือง การศึกษา เกษตร และสามยุคนี้ เป็นยุคที่ผู้บริโภคสามารถสร้างข่าวเอง มีการใช้โซเชียลมีเดีย เกิดการรวมกลุ่มบางกลุ่ม ซึ่งใหญ่กว่าสำนักพิมพ์บางแห่งด้วยซ้ำ เรากำลังอยู่ในยุคที่ ทั้งสามสิ่งคละเคล้ากัน  ซึ่งสื่อหนังสือพิมพ์เอง ไม่ได้เตรียมตัวในการรับการเกิดตรงนี้
 
คนที่เกิดหลังปี 1990 หลังสงครามเย็น พวกเค้าโตมาในยุคอารยธรรมดิจิตอล เรื่องโครงสร้างทางครอบครัว เข้าวัด ไปโบสถ์ ไม่เอา ไม่มีแล้ว เวลาอ่านหนังสือไม่อ่านแล้ว เพราะได้ใช้เวลาในโซเชียลมีเดีหมดไปแล้ว ยุคนนี้มีเกิดขึ้นจริงแล้ว เรียกว่าเจนเนอเรชั่น “ตัวกูของกู” คำถามคือ สื่อมวลชน ประเภท วิทยุ ทีวี หนังสือพิมพ์ จะเอาอย่างไร เพราะสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไม่มีเวลาเปิดปิดสถานี กำลังเป็นโลกใหม่ ดีหรือไม่ดีไม่รู้ ต้องดูกันอีกที
ที่ผ่านมาเรามีแค่ยุค 3 ยักษ์ คือ  หนังสือพิมพ์ วิทยุ ทีวี และสถาบันการศึกษาก็สอนกันแต่สื่อเหล่านี้  แต่ถามว่าขณะนี้สื่อดิจิตอลจะมีกี่สถาบันที่สอน แต่สื่อดิจิตอล กำลังส่งผลกระทบต่อทุกอย่าง ทั้ง  ศาสนา โครงสร้างของครอบครัว ระบบการศึกษา ต้องช่วยกันคิดว่าจะเอาอย่างไร
 
เคยมีการสอบคล้ายๆโอเน็ทโลก ในประเทศที่เจริญแล้วประมาณ 50 ประเทศ เพราะอยากรู้ว่าการจัดการศึกษาเป็นอย่างไร จึงให้เด็กทำข้อสอบกลาง 3 วิชา รวม 600 คะแนน ได้แก่ คณิตศาสตร์  วิทยาศสตร์  และภาษาอังกฤษ  ซึ่งสมัยก่อนผลออกมาพบว่า อเมริกา มีคะแนนติดหนึ่งในสิบ  แต่ปีที่แล้ว อันดับหนึ่งในสิบ คือเซี่ยงไฮ้  ส่วน สิงคโปร์ เกาหลี จีน  ไต้หวัน ก็มืชื่อติดลำดับต้นๆ  แต่สำหรับประเทศไทย ได้คะแนนในอันดับ 40 กว่าๆ
 
เมื่อเป็นเช่นนี้ อเมริกาก็ตกใจ จึงทำวิจัยง่ายๆ โดยเอาเด็กวัย 14-17ปี มาถาม 2 คำถามว่า ใช้ชีวิตในแต่ละวันทำอะไร และ อ่านหนังสือกี่เล่ม เพราะหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งของอเมริกา คือการอ่านหนังสือมาก แต่ผลวิจัยพบว่า เด็กๆ ตอบว่า วันๆ ใช้ชีวิตด้วยการรับ- ส่งข้อความ และไม่อ่านหนังสือเลย  ซึ่งเชื่อว่าหากมีการทำวิจัยเด็กไทยวันนี้ คงไม่ต่างกัน มันเป็นเรื่องของสิ่งที่จะผ่านเข้ามา คือ ดิจิตอลมีเดีย เราจะเอายังไงกัน  เพราะสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ต่างมีระบบกำกับกันเองอยู่ คือ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ หรือ สภาวิชาชีพฯ  
 
แต่ดิจิตอลมีเดียประเภทสุดท้าย ยังไม่มีการกำกับเป็นส่วนใหญ่ หรือเราจะปล่อยให้เกิดความวุ่นวาย ยุ่งเหยิงเกิดขึ้นก่อน แล้วค่อยให้มีระบบการตรวจสอบ ซึ่งขณะนี้สื่อดิจิตอลทำให้ประเทศต่างๆ ตกใจว่าเกิดอะไร เพราะมันไปไกลขนาดไปเจาะล้วงข้อมูลความลับทางทหาร ทางวิชาการ แต่บอกว่าการทำเช่นนี้ไม่ผิด จึงต้องถามว่าบ้านเมืองจะเอาอย่างไร ประชาชนจะเอาอย่างไร
 
เคยมีการเปิดเผยงานวิจัยเด็กมัธยม ที่อยู่ในกรุงเททพ ,เทศบาล และชนบท ว่า เมื่อโรงเรียนเลิกแล้วไปทำอะไร เด็กกรุงเทพฯ บอกว่าเดินห้าง, เล่นคอมพ์  ส่วนเด็กบ้านนอก วิ่งเล่น ฟังวิทยุ หนังสือแทบไม่ได้อ่านเพราะไม่มี  ส่วนเด็กเทศบาล อยู่เกณฑ์กลางๆ   
 
ยุคนี้เด็กไม่ไปวัด ไม่ไปหาปู่ย่าตายาย แต่จะอยู่ในโซเชียลมีเดีย ก็จะเจอกันได้ทุกวัน แต่การถ่ายทอดวิธีคิด มารยาท ประเพณี วัฒนธรรม กรอบจริยธรรม คุณธรรม มันต้องถ่ายทอดกันทางครอบครัว สิ่งเหล่านี้มันหายไป ครูอาจารย์ก็สอนแต่หนังสือได้อย่างเดียว แต่สอนจริยธรรมไม่ได้ เด็กจึงเรียนรู้จากละคร หรืออิทธิพลของสื่อมวลชนที่ป้อนให้
 
ทั้งนี้ หากพูดถึงอิทธิพลของข่าว  มีด้วยกัน 4 แบบ คือ ข่าวสร้างกระแส เช่น เรื่องเณรคำ  สอง ข่าวสร้างค่านิยม  อาจเป็นค่านิยมที่สร้างสรรค์ หรือทำลายล้างก็ได้ ซึ่งอันตรรายมีทั้งบวกและลบ, สาม ข่าวสร้างพวก-สร้างค่าย ซึ่งกำลังเกิดขึ้นมาก มีทั้งเคเบิ้ล ดาวเทียม ฟรีทีวี เป็นร้อยๆ ช่อง น่าเป็นห่วงว่าช่องเหล่านี้จะเลือกรับอย่างไร, สุดท้ายข่าวสร้างปัญญา สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง
 
อีกคำถาม คือ ต้องดูว่าใครกำกับนักสร้างข่าว หรือ ข่าวเหล่านี้   สิ่งที่พึ่งได้มากที่สุด คือ จิตสำนึกของนักข่าวเอง, ส่วน ค่านิยม วัฒนธรรมของสำนักข่าว,การกำกับโดยจรรยาบรรณวิชาชีพเป็นอีกระดับ ตอนนี้กำลังรวมสื่ออาเซียน ต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้ฟี และแฟร์  ต้องคิดว่าต่อไปนี้ใครจะคุมในการสร้างข่าวอาเซียน เพื่อให้คนบริโภค ซึ่งการรวมสื่ออาเซียนทั้งหมดเป็นเรื่องใหญ่ แต่สื่ออเมริกา และยุโรป ต้องขอยกย่อง โดยเฉพาะ  จิตสำนึกการทำงานสื่อสารมวลชนมีสูงมาก ยึดมั่นความถูกต้อง เป็นกลาง เที่ยงธรรม มีให้เห็น และการสื่อสารมวลชนของเค้าพัฒนาถึงขั้นทำให้น้องๆ ที่เดินตาม สามารถใช้กลไกการตรวจสอบ ในเชิงสืบสวน สืบค้นได้ ไม่ใช่แบบใครโยนข่าวให้ไปอ่านแล้วบอกว่าจริงมั้ย ทำงาน ทำลายบ้านเมืองหรือไม่ สื่อต้องทำงานมีอิสระในจุดหนึ่ง และต้องมีทักษะอาชีพ เพื่อสืบค้นหาความจริงให้ได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ผมคาดหวังว่าสื่อสารมวลชนไทย ควรมีสองข้อ เพื่อช่วยบ้านเมืองพ้นจากกับดักให้หลุดพ้นจากสิ่งเหล่านี้
 
โดยประเทศไทยเรากำลังเผชิญเกี่ยวกับกับดักใน 3 เรื่อง กับดักแรกคือความน่าเชื่อมถือของรัฐถะ รวมทั้งข้าราชการประจำ และการเมืองด้วย เรามั่นใจได้อย่างไรว่า คนที่มีอำนาจทางการบ้านการเมือง มีความรู้ แก้ปัญหาของชาติได้ พูดไปก็ไม่มีใครตรวจสอบ เช่น ถ้าถึงระบบการศึกษาไม่ดี แต่มีใครตรวจสอบปลัดกระทรวงในการทำหน้าที่บ้าง.ฯลฯ  รวมทั้งข่าวคอร์รัปชั่นต่างๆ ที่เกิดขึ้น ขณะนี้สื่อยังต้องไปสัมภาษณ์เด็กเพื่อให้มาด่าผู้ใหญ่ ว่าคอร์รัปชั่น ประชาธิปไตยที่เกิดขึ้น สำนวนที่ชาวบ้านพูด “เงินไม่มา กาไม่เป็น” เรื่องนี้ มันฟ้องไปทั่วไปโลกเกี่ยวกับประชาธิปไตยไทย คำพูดเหล่านี้สื่อไม่ได้เป็นคนพูด แต่ชาวบ้านเค้าเห็นเค้าถึงพูดได้ว่าประชาธิปไตยเป็นแบบนี้  ซึ่งนี่คือความน่าเชื่อถือของรัฐถะ ว่ามีความสามารถ ความบริสุทธิ์ใจ น่าเชื่อถือแค่ไหน เพราะปรากฏการณ์ที่ออกมามันไม่ใช่
 
กับดักที่สอง คือ ความเหลื่อมล้ำคนรวยกับคนจน ซึ่งประเทศในอาเซียนหากนำตัวเลขความรวยจนมาเปรียบเทียบดู จะพบว่า ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำมากที่สุด ทั้งระบบเศรษฐกิจ การเมือง เป็นสิ่งที่ต้องทำให้ไทยหลุดพ้นกับดักนี้ ต้องทำให้คนมีน้อยพอจะมีความสุขได้ ไม่ใช่มีหนี้รุงรัง
สุดท้าย กับดักการสร้างคุณค่าเพิ่มของเอกชน จะเห็นว่า ในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา เอกชนมีความเอนด์จอยมาก กับ แรงงานจากเพื่อนบ้าน  แรงงานราคาต่ำ แต่วันนี้ ค่าแรงขึ้น 300  บาท  ทั่วประเทศ ทำให้ระบบแรงงานปั่นป่วน และตอนนี้แรงงานเพื่อนบ้านต่างกลับประเทศแล้ว เอกชนก็ต้องปรับตัวตรงนี้ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพสินค้า บริการ ซึ่งการผลิตเหมือนกับการทำสงคราม  
 
สิ่งสำคัญ จะทำอย่างไรให้เอกชน ร่วมมือกับภาครัฐ ซึ่ง 4 กระทรวงต้องมาคุยกัน ได้แก่ กระทรวงแรงงาน, พาณิชย์, อุตสาหกรรม และกระทรวงศึกษา ต้องคุยกับหอการค้าไทยฯ ได้แล้ว ว่าจากนี้กระบวนการผลิตอุตสาหกรรมไทยเป็นยังไง การศึกษาก็ต้องวางรากฐานว่า จะผลิตเด็กกันอย่างไร
 
ตอนนี้ ต้องคิดว่า “แมสมีเดีย”ที่กำลังจะมาตอนนี้ เราจะเอาอย่างไร  เพื่อให้เนื้อหาการสื่อสารมวลชนทุกประเภท ทุกรูปแบบเป็นประโยชน์ต่ออาเซียน รวมทั้งการต้องเลือกข้างแล้วว่า เราจะเอาใจ หรือความถูกต้อง หรืออิสระเสรีของอาชีพเรา เราจะอยู่ได้หรือไม่ หากไม่ยอมตกเป็นทาสอิทธิพลทางการเมือง ทางธุรกิจ
 
นายจักรกฤษ์ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าววัตถุประสงค์การจัดงาน ว่า 16 ปีที่ผ่านมาสภาการวางรากฐานเป็นอย่างดีในการพัฒนาและตรวจสอบ โดยเฉพาะเรื่องการละเมิดจริยธรรมอย่างเคร่งครัด จากยุคที่ก่อร่างสร้างตัวจากภายใน ได้ส่งต่อการรับรู้สู่สาธารณะชน และประชาสัมพันธ์ตามช่องทางต่างๆ เรื่องจริยธรรมยังเป็นสิ่งสำคัญของสื่อมวลชน และสังคมไทย รวมถึงจริยธรรมของสื่ออาเซียน ที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้จัดตั้งสมาคมสื่ออาเซียนขึ้น
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง