อดีตเลขาฯอาเซียน จี้
วันนี้ (4 ก.ค.) ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการ อาเซียน บรรยายพิเศษ “จริยธรรมสื่ออาเซียน” ในระหว่างร่วมงาน 16 ปี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ว่า ผมอยู่อาเซียนมา 5 ปี อยู่กับคนทั้งระดับอธิบดี กรม สาขา นับไม่ถ้วน สิ่งที่เจอคือประเทศยังมีภาพลักษณ์ที่ดี ยังมีชื่อเสียง และความคาดหวังสูงอยู่เยอะในเวทีภูมิภาคอาเซียน.. แต่ประเด็นคือเราสามารถทำได้ตามความคาดหวัง และชื่อเสียงที่มีอยู่ได้หรือไม่
ประเทศไทย..มีความสำเร็จยิ่งในการประคองตนเองให้พ้นเงื้อมมือของอาณานิคม ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร แต่เราอยู่กับความสำเร็จของบรรพบุรุษนานเกินไป ชื่นชมกับอดีตนานไป จนกระทั่งเอามาเป็นข้อแก้ตัวมากกว่าคำอธิบายในปัจจุบันว่า เรากำลังทำอะไรในการสิ่งที่เราทำ ทั้งนโยบายในประเทศ และระหว่างประเทศ
หลายประเทศต้องวิ่งเพื่อให้หลุดพ้นจากความเป็นอาณานิคม มีการเปลี่ยนแปลง เต็มไปด้วยการแข่งขัน ประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้นของคนอื่น ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิเท่าเทียมกัน ต่อสู้ในเวทีสหประชาชาติ และเผชิญหน้ากับบางสิ่งบางอย่าง เพื่อให้ได้ความเป็นประเทศมา
ต่อไปนี้ผลประโยชน์ของชาติ ต้องไปต่อสู้กันในเวทีโลก จะไปเพิ่มพูน ชี้แนะ โต้เถียง ดีเบตกันที่เวทีโลก ไม่ทำกันข้างในประเทศแล้ว แต่ถามว่า ระบบราชการไทยที่ตั้งขั้นมาในขณะนี้ อยู่บนพื้นฐานความพร้อมเพื่อออกไปเผชิญกับการแข่งขันกับเวทีโลกหรือไม่
การโยกย้าย ปลด ข้าราชการเหล่านี้ เป็นการทำเพื่อให้โครงสร้างระบบราชการพร้อมขึ้นเวทีโลกหรือไม่ ผมไม่แน่ใจ ประเทศไทยเรามีของดีมีเยอะ อุตสาหกรรมรถยนต์ ไม่มีใครดีกว่าเราในอาเซียน ไม่มีการผลิตรถที่ถูกเท่าไทย เพราะอุตสาหกรรมอะไหล่แพร่หลายและวิวัฒนาการไปมาก การท่องเที่ยวก็เป็นหนึ่ง การแปรรูปอาหารการเกษตร รักษาพยาบาลก็เป็นหนึ่ง แต่จะรักษาความเป็นหนึ่งเหล่านี้ได้หรือไม่ มันขึ้นอยู่กับว่าจากกนี้เป็นต้นไปเราทำอะไรบ้าง เพื่อรักษาสิ่งดีๆ ต้องมีการปฏิรูปและพัฒนา
ตอนนี้ บางคนนึกว่า เรากำลังอยู่ในรถแบบคณะฉิ่งฉาบทัวร์ ที่กำลังไต่หน้าผา แต่ไม่ได้คิดว่าถ้าถึงจุดหนึ่งที่แก้ไขไม่ได้ โดยการลดการเป็นหนี้ของรัฐบาลกลาง มันไม่มีทางจะถอยหลังกลับ...เราจะอยู่ในภาวะวิกฤต
...ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง การแข่งขัน ที่เกิดขึ้นรอบตัว ใครจะสร้างขึ้นมาว่า มันมีสำนึกความเป็นวิกฤตจริง ..นโยบายบางอย่างล่มจม บางเรื่องขาดทุน ตัวเลข 20,000 ล้านบาท ที่พูดถึง แต่ไทยออกมาปฏิเสธ แต่ผู้นำเราก็ให้คำตอบไม่ได้ สิ่งนี้ มันจึงบั่นทอนความเป็นกู้ดวิวของไทย
..เรากำลังพูดถึงการอยู่รอดของประเทศ ไม่ใช่ผลประโยชน์เฉพาะหน้า ไม่ใช่อุตสาหกรรม หรือกลุ่มคนใด กลุ่มคนหนึ่ง ประเทศจะอยู่รอดอย่างไร ในเวทีที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ที่วัดจากตัวเลข วัดจากการเก็บข้อมูล และไม่มีบิดเบือนสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้เราใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ประเทศเรามีอยู่ได้ไม่เต็มที่
องค์กรที่มีความรับผิดชอบสูงสุดองค์กรหนึ่ง ไม่ใช่นักการเมือง นักวิชาการ หรือภาคเอกชน แต่เป็นองค์กรสื่อมวลชน... ที่ต้องทำหน้าที่เพื่อให้ได้มาซึ่งภาพสะท้อนที่ชัดเจน หากคนในสังคมยังรู้สึกว่าอยู่กันอย่างนี้แหละไม่มีอะไรเดือดร้อน เราจะอยู่ไม่ได้
การเลือกให้ตำแหน่งในระบบราชการก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็น"คนของใคร"มากกว่า ความรู้ความสามารถ และที่สำคัญที่สุด คือการที่ผู้มีอำนาจ ส่งสัญญาณแบบผิดๆ เข้าไปในกระทรวง ทบวง กรม ทำให้คนเข้าใจว่า ท้ายสุดแล้ว การทำงานไม่ใช่เป็นเรื่องของความสามารถ.. เราจะเอายาชนิดไหนมาแก้ เอาองค์กรไหนมาช่วยเหลือในการจะลดปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ผมคิดว่า หลักเรื่องความโปร่งใส ต้องมีทั้งระบบ ทั้งข้างบน ลงข้างล่าง
สื่อมวลชน เป็นอาชีพที่ศักดิ์ศรี และมีจริยธรรมของตัวเองหน้าที่ของสื่อมวลชน คือ ต้องเปิดเผยความจริง กล้าถามคำถามแรงๆ.. ถามคำถามหนักๆ กับผู้นำประเทศ กับเจ้าของอำนาจ เพราะถ้าสื่อไม่ถาม ก็จะไม่มีใครถาม แต่หากการตั้งคำถามหนักๆ ไม่ได้รับความสนใจ จะไม่มีผลในการทำหน้าที่เพื่อให้เกิดความโปร่งใส..
บทบาทของสื่อมวลชน แน่นอนต้องกระทบกระทั่งกับอำนาจรัฐ เป็นสัจธรรม ต้องพร้อมและทำใจให้ได้ ในการต้องไปเผชิญ หรือสะกิด หรือทำให้ผู้มีอำนาจไม่สบายใจ อาชีพนี้ ต้องพร้อมรับผลพวงจากการเผชิญหน้า ...
สังคมของเราต้องการคนตั้งคำถามแรงๆ กับผู้นำ และต้องเริ่มถามกันเดี๋ยวนี้ โดยเฉพาะเรื่องคอร์รัปชั่น
ผมผ่านเวทีโลกมาหลายเวที..หลังจากไทยโกลาหลเรื่องการเลือกตั้ง เราได้นายกฯ ใหม่ มีรัฐมนตรีใหม่ .. มีการโยกย้ายข้าราชการหลายตำแหน่ง ทั้งระดับอธิบดี ทบวง กรม ผู้นำในเวทีโลกคนหนึ่งเดินมากระแซะไหล่ผม แล้วถามว่า ..ไทยหาได้ดีที่สุด เท่าที่จะหาได้แล้วใช่ไหม ผมไม่รู้จะตอบเขายังไง มันสะท้อนตั้งแต่การเมืองจนถึงระบบรับคนเข้าทำงาน แต่เราจะอยู่อย่างนี้อีกนานเท่าไหร ไม่พูดเรื่องสี เรื่องพรรค แต่พูดเรื่องประเทศไทย ไม่ใช่ผลประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
เรายังมีของดีอยู่เยอะ แต่ต้องปรับเปลี่ยน ปรับปรุง คนที่จะทำได้คือ สื่อ แต่สื่อก็ต้องมองตัวเองเหมือนกัน ว่าจะต้องทำได้ และเป็นมาตรฐานที่ต้องปฏิบัติต่อไปในอนาคต เหมือนที่ประเทศอื่นๆ และเราจะได้สังคมที่วิพากย์ตัวเองกันมากขึ้น ตั้งคำถามมากขึ้นคงต้องใช้เวลาในการทำงานกันนานพอสมควร ทำความเข้าใจกัน และกำหนดพื้นที่ให้กันและกัน ใครมีหน้าที่อะไรก็ต้องทำให้ถึงที่สุด เท่าที่ความรู้และความสามารถจะทำได้ และพร้อมจะตัดสิน
..ถ้าสื่อทิ้งหน้าที่การเป็นผู้พิทักษ์ความจริงให้สังคมไทยแล้ว สังคมนี้จะอยู่ได้ยาก