ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สัมภาษณ์พิเศษ 1 ปี รัฐประหาร | ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : การปรองดองเป็นสิ่งที่บังคับให้เกิดขึ้นไม่ได้

19 พ.ค. 58
15:01
660
Logo Thai PBS
สัมภาษณ์พิเศษ 1 ปี รัฐประหาร | ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : การปรองดองเป็นสิ่งที่บังคับให้เกิดขึ้นไม่ได้

22 พ.ค.2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจจากรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยให้เหตุผลว่าเพื่อระงับความขัดแย้ง หนึ่งปีผ่านไปความขัดแย้งนั้นยังดำรงอยู่หรือไม่ "หทัยรัตน์ พหลทัพ" ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส พูดคุยกับศาสตราจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการด้านสันติวิธี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งให้มุมมองต่อวิธีการลดความขัดแย้งแบบ คสช.ว่าเป็นยาที่รักษาความขัดแย้งแบบไทยๆ ได้หรือไม่ พร้อมกับเสนอทางแก้โจทย์ใหญ่ของสังคมไทย คือ จะทำอย่างไรให้การรัฐประหารครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย

บรรยากาศก่อนวันที่ 22 พ.ค. 2557 หลายคนมองว่า มีความพยายามทำให้เกิดรัฐล้มเหลวเพื่อนำไปสู่การยึดอำนาจ ในสายตาของนักรัฐศาสตร์ นักสันติวิธีมองอย่างไร
ผมคิดว่าสังคมไทยตอนนี้มีความแตกต่างแยกขั้วอย่างชัดเจน สังคมเราเคยมีความขัดแย้งนานาชนิดมาในอดีต แต่ว่าไม่เคยทับถมซับซ้อนถึงเพียงนี้ ความขัดแย้งที่มีเป็นเรื่องของเป้าหมายภาพอุดมคติของสังคมไทย พูดให้ฟังโรแมนติก คือ เราฝันเห็นภาพของสังคมไทยว่า มีหน้าตาเป็นอย่างไร ผมคิดว่า ตอนนี้มันแตกออกเป็น 2 สาย สายหนึ่งเป็นฝันที่อยากเห็นรัฐบาลเข้มแข้ง ทำอะไรได้ดั่งใจ ประชาชนต้องการอะไรก็ตอบสนองทันที ทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไรไม่แน่ว่าสำคัญ อีกสายหนึ่งเป็นความฝันที่ไม่ได้อยากเห็นรัฐบาลเข้มแข้งถึงเพียงนั้น อยากเห็นรัฐบาลมีอำนาจจำกัด นี่ก็เป็นความฝันของคนในสังคมที่แตกต่างกันอย่างที่เราตระหนักอยู่ ลำพังฝันต่างกันนั้นไม่เป็นไร เพราะบรรดาสังคมการเมืองทั้งหลายต่างกันทั้งนั้น ในสหรัฐอเมริกา ความฝันของรัฐบาลเดโมแครตและรีพับลิกันก็แตกต่างกัน ประชาชนที่สนับสนุนพรรคเดโมแครตก็หวังอยากเห็นรัฐที่ใหญ่ขึ้น มีบริการมากขึ้น ส่วนคนที่สนับสนุนพรรครีพับลิกันก็อยากเห็นรัฐที่เล็กลง มีบริการน้อยลง เก็บภาษีน้อยลง นั่นเป็นภาพฝันที่แตกต่างกัน

สังคมไทยก่อนการยึดอำนาจ 22 พ.ค. 2557 นั้น มีกลุ่มคนที่เชื่อว่าการตัดสินทุกอย่างต้องมาจากการเลือกตั้ง ขณะที่คนอีกกลุ่มเชื่อว่า การเลือกตั้งเป็นปัญหา ปัญหาสำหรับเราไม่ใช่แค่เลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้ง ความต่างนี้เป็นความต่างที่จริงจัง คือ มีการคัดค้านการเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ นี่เป็นการขัดแย้งทางวิธีการ ถ้าย้อนกลับไปอดีตได้ ไม่ใช่แค่วันที่  22 พ.ค. 2557 ถ้าคุณถามย้อนไปถึงปี 2475 เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. มีความเห็นอย่างไร ผมเชื่อว่า เส้นแบ่งนี้ก็จะยังเหมือนเดิม ก็จะมีคนจำนวนหนึ่งบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 24 มิ.ย.2475 ถูกต้องสมควรแล้ว อีกพวกหนึ่งบอกว่าความผิดพลาดเริ่มต้นตั้งแต่ 2475

ความแตกต่างนี้ จำเป็นต้องมีใครแก้ไขหรือไม่ หรือให้เวลาแก้ไขปัญหาเอง
ไม่ว่าจะคิดอย่างไร ต้องเริ่มจากข้อเท็จจริงก่อนว่า สังคมไทยวันนี้ไม่เหมือนเดิม เหตุที่ไม่เหมือนเดิม เพราะปัญหาความขัดแย้งและความขัดแย้งที่ว่า เป็นความขัดแย้งยืดเยื้อ ปัญหาที่ตามมา คือ มันลากพากลไกต่างๆ สถาบัน แนวปฏิบัติต่างๆ ในสังคมให้เหนื่อยอ่อนไปหมด ความขัดแย้งนี้ไม่ใช่ความขัดแย้งว่า คุณจะเอาทักษิณ (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) หรือไม่เอาทักษิณ เรื่องที่ผมอยากจะพูดเป็นเรื่องใหญ่กว่านั้นมาก

                         

<"">

สิ่งที่ คสช.พยายามทำตามโรดแมปด้วยการเดินหน้าสู่การปรองดอง ให้ทุกคนลืมอดีต เป็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ยืดเยื้อได้หรือไม่ พูดตามหลักวิชา เหตุผลที่ทำให้เกิดความขัดแย้งยืดเยื้อมีตัวแปรนับไม่ถ้วน ตัวแปรที่น่าสนใจ คือ คนรู้สึกคนติดอยู่ในกับดักแล้วออกไม่ได้ ไม่ว่าจะทำอะไรก็เป็นลบไปหมดภายใต้ระบอบรัฐประหาร คำถามคือว่า เราเปิดโอกาสให้ความขัดแย้งหายใจได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าความขัดแย้งไม่ได้หายใจสิ่งที่เกิดขึ้นคือมันถูกกวาดไปอยู่ข้างล่าง แต่ไม่ได้หายไปไหน ยังอยู่ในสังคมไทย ซึ่งมันจะบ่มเพาะ แปลงรูปร่างเป็นอะไร แต่คนจำนวนหนึ่งจะพูดว่า มันเงียบ แปลว่าไม่มีปัญหา ไม่ใช่ อย่างนี้เราเรียกว่า ความขัดแย้งแฝงหรือความขัดแย้งซ่อนตัว ความขัดแย้งแฝงเป็นความขัดแย้งที่รอวันปะทุ พอเห็นปะทุเราก็ตกใจอีกว่า ทำไมมันเกิด ที่จริงมันไปหลบซ่อนตามเหลี่ยมตามมุมต่างๆ ในสังคมไทย เราจะจัดการกับสิ่งเหล่านี้อย่างไร แค่ไหน ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องของคน 2 คนไปจัดการกัน ผมมองว่า เป็นปลายเหตุ แม้จะเป็นปลายเหตุที่สำคัญว่า คนนั้นทำ คนนี้ทำ แต่สะท้อนเรื่องที่ใหญ่กว่า อันนี้เลยเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทย ซึ่ง คสช.ได้พยายามทำสิ่งที่เรียกว่าโรดแมป แล้วโรดแมปก็พาไปในสิ่งที่เขาต้องการ เริ่มจากปรองดอง ไปเป็นประชาธิปไตยแล้วปฏิรูป หรือปฏิรูปก่อนมีประชาธิปไตย

ผมคิดว่า รัฐบาลไหนในโลกที่คิดเรื่องโรดแมป ต้องเริ่มจากการวินิจฉัยก่อนว่า เหตุของปัญหาอยู่ตรงไหน ข้อวินิจฉัยนั้นแม่นยำแค่ไหน เมื่อวินิจฉัยแม่นยำแล้ว ได้เสนอทางออกที่พอเป็นไปได้หรือไม่ เป็นทางออกที่รับกับข้อวินิจฉัยเหล่านั้นหรือไม่ ส่วนทางออกนั้นผู้คนในสังคมไทยรับได้หรือไม่ ถ้าคนในสังคมไทยขัดแย้งแตกแยกกัน ทางออกที่เสนอมาก็จะมีฝ่ายนั้นรับ ฝ่ายหนึ่งไม่รับอยู่เรื่อย จากนี้จะทำอย่างไร โจทย์ตอนนี้คือการระดมให้คนเห็นพ้องต้องด้วย แต่การระดมให้คนเห็นพ้องต้องด้วยไม่เหมือนกับการบังคับให้เกิดว่าต้องเป็นอย่างนี้อย่างนั้น

การปรองดองบังคับให้เกิดไม่ได้ ปรองดองเหมือนความรักที่บังคับให้เกิดไม่ได้ อันนี้เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่ง ความเป็นจริงทางการเมืองมันก็มีชีวิต มีวิญญาณของมันเอง ของพวกนี้มันบังคับไม่ได้

เท่าที่อาจารย์สังเกตการทำงานของ คสช.ใช้วิธีการวินิจฉัยความขัดแย้งหรือยัง
คสช.คงวินิจฉัย แต่ปัญหา คือ ระบบวินิจฉัยเหตุของโรคก็คงมีหลายแบบ ถ้าเราเป็นฝ่ายที่เน้นทางด้านความมั่นคงแบบมาตรฐาน ต้องถามว่า เหตุความสับสนวุ่นวายในบ้านเมืองนั้นใครทำ คนนี้มีเจตจำนงในการกระทำแค่ไหน
คนนี้มีความสามารถในการกระทำแค่ไหน หน้าที่ คือจะต้องทำให้ความสามารถในการกระทำนั้นหายไป แต่ผมคิดว่า กลุ่มอะไรที่ปรากฏขึ้นเป็นผลอย่างอื่น เป็นผลของเงื่อนไขทางสังคม ตราบใดที่ไม่ได้จัดการปัญหานี้อย่างจริงจัง ก็คงอาจจะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้ลำบาก

การกดคนที่เห็นต่างจากรัฐถือเป็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ตรงจุดหรือไม่
ถามว่าการจำกัดสิทธิเสรีภาพของคนที่มีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรงก็อาจจะมีเหตุผลอยู่ แต่พอกระโดดเข้าไปในมหาวิทยาลัยเลยมีปัญหาซ้ำซ้อนกัน เพราะพื้นที่นี้เป็นพื้นที่พิเศษ ผู้คนที่เกี่ยวข้องก็พิเศษเหมือนกัน

คนที่แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐแล้วถูกกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เป็นการลดทอนเสรีภาพของแสดงออกในระบอบประชาธิปไตยอย่างไรบ้าง
ในที่สุดปัญหาทางการเมือง การครองอำนาจ สิ่งที่ต้องการที่สุด คือ ความชอบธรรม การจำกัดเสรีภาพของคนที่ไม่เห็นด้วย ยิ่งทำก็จะทำให้ฐานความชอบของอำนาจที่มีอยู่อ่อนลง ปัญหามีอยู่ว่า ความเชื่อแบบนี้ตัวการกระทำของมันเอง คือ การจำกัดสิทธิเสรีภาพอาจจะยิ่งทำให้การครองอำนาจมีฐานความชอบธรรมอ่อนลงในตัวของมันเอง

หนึ่งปี ที่ คสช.เข้ามาดูแลประเทศ การแสดงออกหรือสิทธิเสรีภาพของนักวิชาการและประชาชนหดหายไปแค่ไหน
คงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ เพราะว่าในช่วงแรกก็อยู่ภายใต้กฎอัยการศึก ตอนนี้ก็มีอำนาจของมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวคุ้มครองอยู่ ก็ต้องยอมรับว่า รัฐบาลเองก็พูดหลายครั้งว่า เราอยู่ในสภาพพิเศษไม่ใช่สภาพปกติ ตราบใดที่เรารู้ว่า อยู่ในสภาพพิเศษไม่ใช่สภาพปกติ คำถามที่ว่า ตกลงเราจะมีสิทธิเสรีภาพดังเช่นในสภาพปกติมันคงตกไป ตราบใดที่สภาพพิเศษยังอยู่

ภายหลังการเลือกตั้งบรรยากาศการแสดงความคิดความเห็นจะคืนกลับมาเหมือนเดิมภายในกี่ปี
คำถามไม่ใช่กี่ปี แต่คำถามคือว่า ถ้าเราพูดถูกว่า ความขัดแย้งในสังคมไทยเป็นความขัดแย้งยืดเยื้อ คำตอบที่ตอบง่ายที่สุด คือ คงไม่จบง่าย คงจะยาวกว่านั้น คงเหมือนเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหารหรือการเลือกตั้ง การรัฐประหารคงทำให้คนที่อยู่บนท้องถนน หยุดอยู่บนท้องถนนได้ แต่ทำให้ปัญหาที่มากับพวกเขาหายไปไม่ได้ การเลือกตั้งก็เช่นเดียวกันมันทำให้คนบางกลุ่มเข้ามาอยู่ในทำเนียบรัฐบาลได้ แต่ทำให้ปัญหาที่แวดล้อมสังคมไทยอยู่และมีที่มาจากความขัดแย้งหายไปไม่ได้เช่นเดียวกัน

                            

<"">

การรัฐประหารวันที่ 22 พ.ค.2557 เกิดขึ้นห่างจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ไม่ถึง 10 ปี อาจารย์มองว่า สังคมไทยจะอยู่คู่กับรัฐประหารไปอีกนานแค่ไหน
ทุกครั้งที่เห็นการรัฐประหาร ผมพยายามจะชวนคิดว่า คนทำรัฐประหารก็มีเหตุผลของเขา เพราะการรัฐประหารมีความเสี่ยงสูงเขารู้ว่า เป็นอันตราย ผิดกฎหมาย เขารู้ทุกอย่าง เขาจึงตัดสินใจทำด้วยเหตุผลของเขา แต่อันนั้นไม่สำคัญ
ทุกครั้งที่เกิดรัฐประหาร สิ่งที่ได้ยิน คือ เสียงของความหมดหวังกับกระบวนการทางการเมืองปกติ การรัฐประหารกำลังบอกเราว่า กระบวนการทางการเมืองปกติในโลก บ้านนี้เมืองนี้ไม่ทำงาน  ต้องใช้วิธีการอย่างอื่น อันนี้ในทางหนึ่งเป็นความหมดหวังกับกระบวนการการเมืองปกติ คำถาม คือ หลังจากสภาวะนี้เราจะพาประเทศไปสู่การเมืองปกติได้หรือไม่ อันนี้ผมตอบไม่ได้

ในความเห็นของอาจารย์มองว่า การรัฐประหารครั้งนี้อาจไม่ใช่การรัฐประหารครั้งสุดท้าย
ผมว่านักวิชาการ นักรัฐศาสตร์ไทยไม่มีใครกล้าบอกว่า การรัฐประหารครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายหรือไม่ เราน่าจะคิดว่า ทำอย่างไรที่จะทำให้การรัฐประหารครั้งนี้เป็นรัฐประหารครั้งสุดท้าย แม้กระทั่งผู้กระทำรัฐประหารเองก็ไม่อยากจะเห็น เพราะมีต้นทุนมากมายเวลาที่ทำ ทุกคนบอกก็ว่า จำเป็นต้องรับผิดชอบ ต้องเสี่ยง ผมคิดว่าโจทย์ของสังคมไทย คือ จะทำอย่างไรให้การรัฐประหารครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย ถ้าสมมติจะคิดต่อไป ในทางหนึ่งอาจจะต้องเปลี่ยนหลายเรื่อง แต่ไม่ใช่อย่างที่การร่างรัฐธรรมนูญกำลังทำอยู่ การร่างมาตราต่างๆ เพื่อจำกัดอำนาจ

ผมคิดว่า ทางที่ง่ายที่สุดอย่างหนึ่งก็ได้ เช่น รัฐบาลหลังรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ควรมีอายุเกิน 2 ปี  เป็นการแก้ปัญหาการรัฐประหารบนฐานความเข้าใจในสังคมไทยซึ่งเข้าใจเรื่อง "เวลา" เปลี่ยนไป ถ้ารัฐบาลอยู่ 4 ปี ความเดือดร้อน ความไม่พอใจก็สะสม มันก็ระเบิด ถ้าทนไม่ได้ก็ทำการรัฐประหารก่อน แต่ว่าถ้าแค่ 2 ปี ผมคิดว่ามันอาจจะพออดทนได้ คือ ขึ้นมาตอนแรกปีที่ 1 ยังฮันนีมูนอยู่ พอปีที่ 2 เริ่มจะแย่แล้ว แทนที่จะเอาเขาลงด้วยวิธีอื่นๆ รออีกระยะหนึ่งก็เลือกตั้งแล้ว นี่อาจจะแก้ปัญหาการรัฐประหารในระยะยาวได้ คือ เปลี่ยนความเข้าใจเรื่องเวลาเสียใหม่ ผมพูดอย่างนี้อาจมีคนพูดว่า งานรัฐบาลต้องใช้เวลา 4 ปี ผมคิดว่า 4 ปี เป็นฐานคิดที่โบราณ

วันนี้วิธีคิดเรื่องเวลาเปลี่ยนไปแล้ว ความสัมพันธ์ของคนบนฐานเทคโนโลยีทำให้เวลาเร็วขึ้นมาก ทำไมเราไม่เคยใช้เรื่องนี้กับการคิดถึงเรื่องเวลาในทางการเมือง เพื่อแก้ปัญหารัฐประหารบ้าง เขียนกฎหมายว่า รัฐประหารผิดกฎหมาย ทุกคนก็รู้ พอฉีกรัฐธรรมนูญกฎหมายที่ผิดก็หายไป  เพราะฉะนั้นจึงต้องมาออกกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาในเวลาต่อไป ถ้าสมมติคิดในลักษณะทำนองนี้เราอาจจะมองออกก็ได้ว่าเรามีรัฐบาลที่เราไม่พอใจ แต่ทนอีกนิดนึง เดี๋ยวก็ไปแล้ว อันนี้เป็นอีกวิธีคิดหนึ่งที่ลองคิดเรื่องพวกนี้ดู

                          

<"">

                         

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง