ความสำคัญของอาจารย์ใหญ่ในทางการแพทย์
การฝึกผ่าตัดของนิสิต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากร่างของอาจารย์ใหญ่ ถือเป็นความสำคัญต่อวงการแพทย์ เพื่อให้นิสิตได้สัมผัส เรียนรู้อวัยวะต่างๆในร่างกาย พร้อมเพิ่มความชำนาญให้การผ่าตัดลดความผิดพลาดของแพทย์เมื่อต้องรักษาผู้ป่วย
แม้ปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีเลียนแบบร่างกายมนุษย์มาใช้ฝึกสอนนิสิตแพทย์เพิ่มขึ้น แต่ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกผ่าตัด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันว่า อาจารย์ใหญ่ยังมีความจำเป็นเพราะแพทย์ทุกคนจำเป็นต้องฝึกหัดกับร่างกายมนุษย์ เพื่อให้เกิดความคุ้นชินกับประสาทสัมผัสของตัวเอง รวมถึงน้ำหนักมือเวลาลงมีดผ่าตัด
ใน 1 ปี คณะแพทยศาสตร์ต้องจัดอบรมการผ่าตัดให้กับนิสิต 100 ครั้ง โดยนิสิต 6 คนจะได้เรียนรู้จากอาจารย์ใหญ่ 1 ท่าน ซึ่งอาจารย์ใหญ่แต่ละท่านสามารถใช้ฝึกผ่าตัดได้ 10-15 ครั้ง ส่งผลให้คณะแพทย์มีความต้องการใช้อาจารย์ใหญ่เพิ่มขึ้นทุกปี จากเดิมที่เคยรับร่างอาจารย์ใหญ่ภายในกรุงเทพมหานคร แต่ปัจจุบันจำเป็นต้องขยายพื้นที่ออกไปต่างจังหวัดมากขึ้น
ศาลาทินทัต เป็นสถานที่รับบริจาคร่างกายเพื่อเป็นอาจารย์ใหญ่ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทัศนคติที่เปลี่ยนไปทำให้มีผู้สนใจบริจาคร่างกายทุกวัน เพราะเห็นว่าได้ทำบุญช่วยเหลือผู้อื่น
สถิติการอุทิศร่างกายปี 2557 ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงให้เห็นว่า แม้มีผู้มาแสดงความจำนงอุทิศร่างกายมากถึง 19,841 คน แต่สามารถรับจริงได้เพียง 281 คนและถูกใช้ในการศึกษา 257 คน
ยังมีอีกหลายมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะในต่างจังหวัด ที่จำเป็นต้องใช้อาจารย์ใหญ่เพื่อการศึกษาของนิสิต นักศึกษา คณะแพทย์ศาสตร์ ดังนั้นประชาชนที่ประสงค์จะอุทิศร่างกายสามารถบริจาคในมหาวิทยาลัยที่มีคณะแพทยศาสตร์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาเฉพาะที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์