จับตาความรุนแรงของเนื้อหาในเพลงแร็ป
U.O.E.N.O. เพลงแร็ปที่โด่งดังเพราะร่วมร้องศิลปินฮิปฮอปมากมาย แต่เกิดปัญหาเมื่อท่อนของ ริค รอส แร็ปเปอร์คนดัง ได้บรรยายถึงการมอบเหล้าผู้หญิงก่อนพาไปขืนใจที่บ้าน สร้างความไม่พอใจต่อกลุ่มสตรีที่ร่วมกันลงชื่อประท้วงทางออนไลน์กว่า 72,000 ราย แม้เจ้าตัวจะออกมาขอโทษต่อเนื้อเพลงที่ไม่เหมาะสม แต่เขาก็ถูกปลดจากการเป็นพรีเซนเตอร์ร้องเท้ายี่ห้อดัง ตามด้วยการถอนตัวของกลุ่มนักศึกษาที่สนับสนุนการจัดคอนเสิร์ตของเขา ซึ่งภายหลังมีการถอดท่อนแร็ปของ ริค รอส ออกไป เพื่อให้เพลงนี้สามารถออกอากาศทางวิทยุได้
เนื้อหาในบทเพลงที่ดุดันและหยาบคายอยู่คู่กับวัฒนธรรมฮิปฮอปมาตั้งแต่สมัยที่ดนตรีของคนผิวสียังเป็นที่นิยมในวงแคบ แม้ในทุกวันนี้ที่เพลงแร็ปจะประสบความสำเร็จในวงกว้างมากขึ้น แต่เนื้อหารุนแรงในบทก็ยังพบได้ทั่วไป ทั้งการดูหมิ่นสตรีในซิงเกิลดังของ A$AP Rocky และ Kendrick Lamar ขณะที่เนื้อเพลงเหยียดหยามคนเพศที่ 3 ก็ยังพบได้บ่อยในผลงานของ Tyler, the Creator
แต่บางครั้งความรุนแรงเกินขอบเขต ก็ย้อนกลับมาสร้างผลกระทบต่อศิลปินโดยตรง จากกรณีของ ลิล เวย์น แร็ปเปอร์ผู้อื้อฉาว ที่ท่อนแร็ปของเขาในเพลง Karate Chop มีการเปรียบเทียบการมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงกับการสังหาร เอ็มเม็ต ทิล เด็กชายเชื้อสายแอฟริกัน อเมริกันที่ถูกฆาตกรรมเพราะเกี้ยวพาราสีผู้หญิงผิวขาวในยุค 50 ซึ่งเพลงนี้ถูกสังคมประนามทั้งประเด็นการเหมารวมทางเชื้อชาติและสนับสนุนความรุนแรงต่อสตรี
วันนี้การเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับผลิตภันฑ์กลายเป็นช่องทางทำเงินที่สำคัญของศิลปินฮิปฮอป นิคกี้ มินาจ เป็นพรีเซนเตอร์ให้กับผลิตภัณฑ์น้ำอัดลม, สนูปด็อก เป็นแบบโฆษณาให้กับอาหารและเครื่องดื่มชูกำลัง ส่วน Magna Carta Holy Grail อัลบั้มชุดใหม่ของแร็ปเปอร์หัวธุรกิจอย่าง เจย์ซี ก็มีสปอนเซอร์หลายรายให้การสนับสนุน ซึ่งการต้องร่วมงานกับแบรนด์สินค้าที่คำนึงถึงภาพลักษณ์เป็นหลัก ทำให้เป็นที่จับตาว่าเนื้อหาของเพลงแร็ปอาจจะลดความรุนแรงในอนาคต เพราะแม้หัวใจของเพลงแร็ปคืออิสรภาพในการแสดงออกทางความคิดผ่านเนื้อร้อง และความรุนแรงในบทเพลงจะยังคงเป็นที่ยอมรับของแฟนเพลงในวัฒนธรรมฮิปฮอปอยู่เสมอ แต่ตัวอย่างของศิลปินที่ถูกสังคมลงโทษเพราะเนื้อเพลงที่สร้างกระแสในแง่ลบ อาจทำให้ศิลปินฮิปฮอปรุ่นใหม่ที่หันมาร่วมงานกับสินค้าแบรนด์ดัง ต้องระมัดระวังเนื้อหาในบทเพลงมากกว่าที่เป็นมาในอดีต