เกาะติดความเสี่ยง
โครงการรถยนต์คันแรก เป็นนโยบายของรัฐบาลที่กระตุ้นให้ระดับหนี้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการกู้ยืมเพื่อซื้อรถยนต์ 3 เดือนแรกของปีนี้ (56) การกู้ยืมภาคครัวเรือน สูงเกือบ 9 ล้านล้านบาท แต่ส่วนหนึ่งของปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สำคัญ มาจากการออมที่ขาดความรู้ด้านการเงิน
ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ใช้ภาพโฆษณาข้อมูลเชิงอธิบาย หรือ อินโฟกราฟฟิกรณรงค์ให้เห็นถึงการขาดความรู้ความเข้าใจในการจับจ่ายใช้สอย และการใช้เงินเกินตัว จนนำมาซึ่งภาระหนี้ครัวเรือน
ขณะที่ผลสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ และธุรกิจ เมื่อเร็ว ๆ นี้ พบว่าแต่ละครัวเรือนมีหนี้เฉลี่ยกว่า 180,000 บาท ต้องผ่อนชำระกว่า 10,000 บาทต่อเดือน และร้อยละ 70 บอกว่าเคยมีปัญหาการชำระหนี้
<"">
สิ้นปี 55 ยอดหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ราว 8,800,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 2552 อยู่ที่ประมาณ 5,500,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างน่าสังเกตในช่วง 3 ปีนี้ (56) หน่วยงานเศรษฐกิจของรัฐ ระบุว่า โครงการรถยนต์คันแรกของรัฐบาล ก่อให้เกิดรายจ่ายสำคัญของภาคครัวเรือนแต่ระดับหนี้ที่เพิ่มขึ้น ก็ยังไม่น่าห่วง
หนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมาพร้อมความเสี่ยงจากรายได้และเงินออมที่เพิ่มขึ้นช้ากว่าภาระหนี้ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ก่อนหน้านี้ นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ เป็นห่วงการออมของคนไทยในปัจจุบันที่ต่ำกว่าสมัยก่อนมาก เนื่องจากนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนให้มีการใช้จ่าย ซึ่งการออมเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่สะท้อนการใช้จ่ายและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประชาชน
<"">
ส่วนนางชนาธิป จริยาวิโรจน์ ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยว่า คนไทยส่วนหนึ่งมักไม่วางแผนการใช้เงินและหาความรู้ก่อนกู้ยืม โดยเฉพาะเรื่องอัตราดอกเบี้ยและสิทธิของลูกหนี้
ผู้อำนวยการศูนย์บริการทางการเงิน กล่าวเสริมว่า สภาพแวดล้อมในปัจจุบันทำให้คนใช้จ่ายเกินตัว รวมถึงการโฆษณาเชิญชวนให้มองว่าการใช้บริการสินเชื่อเป็นเรื่องสะดวกสบาย แต่ไม่ได้ระบุถึงภาระหนี้ที่จะตามมา ทั้งนี้ การฝึกออมเงิน ควรแบ่งเงินออมก่อนใช้ 1 ใน 3 ของรายได้ ใช้จ่ายไม่เกินครึ่งหนึ่งของรายได้ และหากจะก่อหนี้ก็ไม่ควรเกิน 1 ใน 3 ของรายได้