นักวิชาการเสนอต่ออายุการทำงานผู้เกษียณอายุราชการ
เวทีระดมความคิดเห็นเพื่อพิจารณานโยบายนิยามผู้สูงอายุ และ อายุการทำงานที่เหมาะสมสำหรับสังคมไทย น.ส.อรพินท์ สพโชคชัย หัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนาองค์ความรู้เพื่อมโนทัศน์ใหม่ของนิยามผู้สูงอายุ เปิดเผยผลการศึกษา และการกำหนดกรอบนโยบายเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ พบว่า ประเทศไทย กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยคาดว่าอีก 17 ปีข้างหน้า ผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นประมาณ 17.8 ล้านคน หรือ คิดเป็นร้อยละ 25 ของประชากรไทยทั่วประเทศ
นอกจากนี้ การกำหนดวัยเกษียณ เพื่อให้สามารถรับเงินบำเหน็จ หรือ บำนาญได้นั้น ทำให้ประชากร ออกจากระบบการทำงานก่อนวัย 60 ปี ที่เร็วขึ้น ซึ่งปัญหาที่ตามมา คือ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ประสบภาวะทางการเงิน เกิดความยากจน เพราะรายได้ที่ได้รับ ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในภาวะที่ค่าครองชีพสูงขึ้น
โดยเสนอให้ภาครัฐ ขยายอายุการทำงานของประชากรให้ยาวขึ้น เนื่องจากวัย 60 ปี ในหลายสาขาอาชีพ ยังสามารถทำงานต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งจัดระบบสวัสดิการรองรับในอนาคต โดยล่าสุด มีการประกาศใช้กฏหมายกองทุนการออมแห่งชาติแล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งกฏหมายดังกล่าว เป็นการสร้างความมั่นคงระยะยาวให้กับประชากรวัยเกษียณ