ฟิลิปปินส์เดินหน้าชนปัญหาทะเลจีนใต้
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของฟิลิปปินส์ เปิดเผยในวันนี้ ว่าองค์คณะอนุญาโตตุลาการ 5 คน ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยกฏหมายทางทะเลระหว่างประเทศ ร่วมหารือกันเป็นครั้งแรกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ และได้พิจารณากฏหมายที่เกี่ยวข้องกับคำร้องของฟิลิปปินส์ต่อจีน ในกรณีที่จีนใช้แผนที่จุดประ 9 จุด อ้างสิทธิเหนือพื้นที่เกือบทั้งหมดของทะเลจีนใต้ ซึ่งฟิลิปปินส์อ้างว่าเป็นการละเมิดต่อกฏหมายทางทะเลระหว่างประเทศ เรื่องอาณาเขตและพรมแดนทางทะเล
โฆษกกระทรวงต่างประเทศของฟิลิปปินส์ระบุว่า รัฐบาลฟิลิปปิส์มีความยินดีที่ตอนนี้คณะอนุญาโตตุลาการแห่งสหประชาชาติ เริ่มกระบวนการขั้นต้นก่อนการไต่สวนอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งหากคณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาแล้วเห็นว่าองค์คณะมีขอบเขตอำนาจที่จะไต่สวนในข้อร้องเรียนในคดีนี้ ก็จะเริ่มการไต่สวนคู่ความอย่างเป็นทางการ
ข้อพิพาทเรื่องพรมแดนในทะเลจีนใต้ เป็นประเด็นที่สร้างความขัดแย้งรุนแรงระหว่างจีนกับชาติในอาเซียน 4 ชาติ ที่อ้างสิทธิเหนือดินแดนบางส่วนในทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะกับฟิลิปปินส์ซึ่งขัดแย้งรุนแรงที่สุด อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้จีนประกาศมาตลอด ว่าการที่ฟิลิปปินส์ยื่นเรื่องสู่การพิจารณาโดยคณะอนุญาโตตุลาการสหประชาชาติ ถือเป็นการกระทำฝ่ายเดียวของฟิลิปปินส์ ซึ่งจีนไม่เห็นด้วย ซึ่งพัฒนาการสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อาจส่งผลให้เกิดความตึงเครียดบริเวณทะเลจีนใต้ระลอกใหม่
ซึ่งนอกจากการไต่สวนของคณะอนุญาโตตุลาการแล้ว ทางการฟิลิปปินส์ยกระดับความร่วมมือทางการทหารกับสหรัฐฯ โดยทูตฟิลิปปินส์ประจำสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่าฟิลิปปินส์จะเริ่มหารือกับสหรัฐฯอย่างเป็นทางการ เพื่อขยายความร่วมมือทางการทหาร เช่น การสร้างฐานปฏิบัติการทางทหาร และโกดังเก็บสิ่งของบรรเทาทุกข์ โดยสหรัฐเป็นผู้ให้ทุน ข้อตกลงการให้กองทัพสหรัฐใช้สถานที่ทางทหารและพลเรือน ให้สิทธิสหรัฐนำเรือรบและเครื่องบินรบเข้าใช้ประโยชน์สถานที่ยุทธศาสตร์ในฟิลิปปินส์ได้มากขึ้น แต่ไม่ได้เป็นการให้สิทธิถาวร โดยระบุถึงแนวคิดหลักว่า เพื่อประโยชน์ในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ และยังช่วยยกระดับการป้องกันตัวของฟิลิปปินส์
การเพิ่มความร่วมมือทางทหารระหว่างสหรัฐและฟิลิปปินส์จากเดิมที่อยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว นับเป็นการสะท้อนความสัมพันธ์ในระดับรัฐบาลที่แน่นแฟ้นขึ้น ขณะเดียวกันยังแสดงทำให้สหรัฐสามารถเข้ามาคานอิทธิพลของจีนในภูมิภาคได้โดยตรง ซึ่งรวมไปถึงปัญหาพิพาทในทะเลจีนใต้ โดยที่ผ่านมาสหรัฐฯบอกมาตลอดว่าตัวเองถือเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เพราะเป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญของสหรัฐฯเช่นกัน