ชาวเชียงใหม่ร่วมฟื้นฟู-อนุรักษ์
ท่วงท่าการตีซึ่งต้องอาศัยความแข็งแรง และความชำนาญ จากการฝึกฝนอย่างหนัก เพื่อให้เสียงกลองสอดประสานกับเสียงฉาบ ฆ้องโหม่ง และกลองตะโล้ดโป๊ดได้อย่างไพเราะ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้ตีกลองหลวง เหลือเพียงผู้สูงอายุ ส่วนคนรุ่นใหม่กลับไม่สนใจจะสืบทอดศิลปล้านนาชนิดนี้ ขณะที่กลองหลวง ซึ่งขุดจากไม้ขนาดใหญ่ทั้งต้น ก็หาวัตถุดิบได้น้อยลง และในจังหวัดเชียงราย เหลือกลองหลวงเพียง 30 ใบเท่านั้น
วิกฤตของการไร้ซึ่งผู้สืบทอดกลองหลวง ทำให้ชาวบ้านใน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งถือเป็นพื้นที่แหล่งประวัติศาสตร์โบราณ มีการรวมตัว จัดตั้งเป็นชมรมกลองหลวงขึ้น เพื่อสืบทอด และอนุรักษ์วิถีประเพณีท้องถิ่นที่ดีงามนี้เอาไว้ให้กับลูกหลาน โดยสามารถรวบรวมกลองหลวงที่หลงเหลืออยู่ในพื้นที่ ได้ถึง 12 ใบ เตรียมจะพื้นตำนานกองหลวงขึ้นมาอีกครั้ง โดยร่วมกับ ภาคเอกชน และเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน จัดการประกวดและประชันการตีกลองหลวง 12 ราศีขึ้นในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาที่จะถึงนี้
กลองหลวงเป็นกลองหน้าเดียว มีขนาดใหญ่ และ ยาวที่สุด ในจำนวนชนิดของกลองที่มีอยู่ในประเทศไทย เดิมเป็นที่นิยมกันในหมู่ชาว “ไทยอง” ในอดีตมีใช้กันเกือบทุกบ้าน เพื่อใช้ตีบอกสัญญาเตือนภัยต่าง ๆ และ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กลองห้ามมาร เนื่องจากใช้ตี ในงานบุญใหญ่ อาทิ งานสมโภชพระธาตุ และงานปอยหลวง