แผนยุบรวม
ทางเชื่อมรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ และสถานีรถไฟใต้ดินที่ บริษัทแอร์พอร์ตลิ้งค์กำลังดำเนินการสร้างเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสาร ทำให้มีความสะสะดวกสบายในการใช้งานนี่เป็น 1 ในแนวทางการปรับภาพลักษณ์ของ แอร์พอร์ตลิ้งค์ที่จะดำเนินการไปพร้อมกันการบริหารจัดการภายใน และสร้างความเชื่อมั่นบุคลากรเพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่าองค์กรแห่งนี้มีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับการลงทุนระบบรถไฟฟ้าในอนาคตได้
แนวทางการบริหารและปรับปรุงแอร์พอร์ตลิ้งค์เกิดขึ้น โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ในฐานะที่ถือหุ้นบริษัท รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ 100 % เสนอยุบให้เป็นหน่วยธุรกิจในการรถไฟแห่งประเทศไทย เนื่องจากเชื่อว่าจะมีความคล่องตัว และแก้ไขการบริหารจัดการต่าง ๆ ที่ล่าช้าได้ได้สะดวกมากขึ้น
รศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตกรรมการบริหารการรถไฟแห่งประเทศไทยระบุว่า ปัญหาความล่าช้าต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภาครัฐควรนำไปปรับแก้ เพื่อให้เกิดความราบรื่นในการบริหารงานในอนาคตเพื่อให้การบริหารมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่
แม้จนถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะยุบบริษัท แอร์พอร์ตลิ้งค์ หรือไม่ ท่ามกลางการจับตาว่ายังมีความท้าทายในการบริหารงานแอร์พอร์ตลิ้งค์รออยู่อีกมาก และหลายอย่างก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งขบวนรถที่มาให้บริการจากเดิมที่จะให้บริการเดินรถแบบ เอ็กซ์เพรส ไลน์ ได้ทุก 15 นาที แต่สามารถให้บริการได้เพียงชั่วโมงละ 1 เที่ยวเท่านั้นและมีรถให้บริการเพียง 2 ขบวน ส่วนซิตี้ไลน์ก็มีไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน ปัญหาเหล่านี้ทำให้จำนวนผู้ใช้บริการที่ไม่เป็นไปตามคาดการณ์มีผลต่อฐานะทางการเงิน ซึ่งการขาดทุนที่เกิดขึ้นทำให้ไม่มีเงินไปปรับปรุงซ่อมบำรุงและจัดซื้ออะไหล่สำหรับขบวนรถ แต่จนถึงปัจจุบัน กระทรวงการคลังก็ยังไม่ได้อนุมัติเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งทุกปัญหาที่เกิดขึ้นกับแอร์พอร์ตลิ้งค์ รอการแก้ไขอย่างจริงจังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากกว่าการปะทะคารมแล้วปล่อยให้ปัญหาค้างอยู่โดยปล่อยให้ผู้โดยสารต้องรอโดยไม่มีข้อสรุป