สมาคมผู้ประกอบข้าวถุงไทยเข้มงวดตรวจสอบข้าวสารบรรจุถุง
นายสมเกียรติ มรรคยาธร นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุง เปิดเผยว่า ทางสมาคมฯ พร้อมชดเชยเงินค่าเสียหายให้ในวงเงิน 20 ล้านบาท เพื่อเป็นการเรียกความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ในกรณีบริโภคข้าวสารบรรจุที่เป็นของสมาชิกสมาคม และเสียชีวิตจากสารเมทิลโบรไมด์ นอกจากนี้ สมาชิกของสมาคมข้าวถุงกว่า 128 บริษัท ยังจะนำตัวอย่างข้าวสารบรรจุถุงใน 128 บริษัท ไปตรวจสอบยังห้องปฎิบัติการตามหลักสากล ซึ่งทางสมาคมจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบทั้งหมด โดยจะเริ่มตรวจสอบครั้งแรกในวันที่ 1 สิงหาคมนี้เป็นต้นไปจนครบ 1 ปี โดยจะตรวจสอบทุกๆ 3 เดือน จากนั้นจะประเมินผลโครงกล่าวดังกล่าวต่อไป
ด้าน นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ได้ประสานกับบริษัทผู้ผลิต และจำหน่ายข้าว ยี่ห้อ โค-โค่ ที่ตรวจพบปริมาณเมทิลโบรไมด์ในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแก๊ส หรือที่อยู่ในเปลือกข้าว และเนื้อข้าว จากการได้น้ำที่มีสารเมทิลโบรไมด์ วัดเป็นโบรไมด์ ไอออน เกินเกณฑ์มาตรฐานถึง 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานความปลอดภัยอาหารระหว่างประเทศ
แต่ผู้ประกอบการรายดังกล่าวยินดีเก็บสินค้าทั้ง 2 ล็อต คืนจากตลาด รวมไปถึงล็อตต่างๆ เพื่อไปผ่านกระบวนการตากใหม่ ทั้งนี้บริษัทยังประกาศ ที่จะเลิกการรมควันข้าวหลังจากบรรจุถุงแล้วด้วย ทั้งนี้ อย.จะร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกตรวจตัวอย่างข้าวอย่างต่อเนื่อง หากพบผิดซ้ำจะสั่งทำลายทันที
พร้อมกันนี้ อย.เตรียมเสนอปรับแก้ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องมาตรฐานปริมาณสารรมยาตกค้างในข้าวสารบรรจุถุงให้สอดคล้องกับมาตรฐานโคเด็กซ์ คือ เมธิลโบรไมด์ ไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โบรไมด์ ไอออน ไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และฟอสฟีน ไม่เกิน 0.1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และจะเสนอให้ รมว.สาธารณสุข ลงนามภายในสัปดาห์นี้ มีผลบังคับใช้ทันที
ด้าน รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ระบุ เป็นห่วงคุณภาพข้าวสารในโครงการรับจำนำของรัฐที่นำมาบรรจุถุงมากกว่า เนื่องจากสต็อกข้าวที่จำนวนมาก และระบายออกได้น้อย ทำให้ต้องรมยาข้าวมากกว่าปกติ