นักวิชาการชี้ กสทช.เรียกตักเตือนซีรีย์
นักวิชาการสถาบันสื่อสาธารณะ ชี้กสทช.เรียกตักเตือนซีรีย์ "ฮอร์โมนฯ" ได้ แต่ไม่มีอำนาจเซ็นเซอร์ เผยละครสะท้อนสังคม เป็นประโยชน์ให้ผู้ใหญ่แก้ปัญหาถูกจุด
กระแสสังคมออนไลน์ยังพูดถึง ละครซีรีย์ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับกรณีที่ กสทช. เรียกขอดูเทปจากผู้ผลิตซีรีย์เรื่องนี้ และเตรียมเรียกผู้ประกอบการที่ผลิตซีรีย์นี้มาพบในวันที่ 5 สิงหาคม 2556 เนื่องจากเห็นว่า ภาพและเนื้อหาบางตอนของซีรีย์ ฮอร์โมน ชวนให้ผู้ชมคิดและจินตนาการในทางที่ไม่ดีได้ ขณะที่มุมมองของกระแสสื่อสังคมออนไลน์กลับเห็นต่างว่า ซีรีย์เรื่องนี้สะท้อนปัญหาและชีวิตของวัยรุ่นได้อย่างดี ทั้งเรื่องปัญหาเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น รักในวัยเรียน หรือ ปัญหาภายในครอบครัว ที่นำมาตีแผ่ให้เห็น
ดังนั้น จึงเกิดการตั้งคำถามถึงอำนาจหน้าที่ของ กสทช.ในการเข้ามาควบคุมเนื้อหาและความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม การนำเสนอเนื้อหา และภาพบางตอนซีรีย์เรื่องนี้ในมุมมองของสื่อเองมีความเหมาะสมกับวัยรุ่นไทยในปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน ควรเข้าไปควบคุมหรือไม่
นายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการสถาบันสื่อสาธารณะ กล่าวว่า ละครซีรีย์ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ไม่ควรถูกแบน เนื่องจากเป็นละครสะท้อนสังคม ที่พูดถึงปัญหาทั้งด้านมืด และด้านสว่าง ซึ่งเป็นมุมมองของผู้กำกับที่ต้องการจะนำเสนอ
อย่างไรก็ตาม กสทช.มีอำนาจในการเข้ามาดูเรื่องเหมาะสมของเนื้อหา โดยไม่จำเป็นต้องมีการร้องเรียน ซึ่งมีอำนาจจัดการได้ทันที แต่มีอำนาจอยู่เพียงครึ่งหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งอยู่ผู้ประกอบการที่ต้องพิจารณาเองว่าขัดต่อกฏหมาย มาตรา 37 หรือไม่ จากนั้นก็กำหนดเรทในการรับชม เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม
แต่หากกสทช.เห็นว่าขัดต่อมาตรา 37 ก็มีสิทธิ์อำนาจสั่งระงับออกอากาศ และเพิกถอนอนุญาต ซึ่งแนวคิดนี้มุ่งเน้นให้สื่อควบคุมเอาเอง ดังนั้น กสทช.จะมีอำนาจเพียงเรียกมาคุย หรือ ตักเตือน แต่ไม่มีอำนาจในการเซ็นเซอร์
ขณะภาพส่วนหนึ่งของซีรีย์ฮอร์โมนฯ ที่อาจทำให้คนดูจินตนาการไปในทางที่ไม่ดีได้นั้น นายธาม กล่าวว่า ซีรีย์ใช้การนำเสนอเชิงสัญลักษณ์ เช่น คราบเปื้อนบนที่นอน ซึ่งต้องพิจารณาถึงเจตนาของผู้กำกับด้วย ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ซีรีย์เรื่องนี้ มีการนำเสนอย่างตรงไปตรงมา และไม่ใช้วิธีการตัดสิน แต่เป็นการเล่าไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสังคม ในรูปแบบของข่าว ที่ไม่ใช่แต่งมาจากนิยายเหมือนเรื่องอื่น ๆ ทำให้วัยรุ่นไม่รู้สึกว่าถูกสั่งสอน แต่เป็นการเล่าแบบให้บทเรียนจากการกระทำ ว่าจะมีผลตามมาอย่างไร
ทั้งนี้ นอกเหนือจาก กลุ่มวัยรุ่นที่ควรดูซีรีย์เรื่องนี้แล้ว ผู้ปกครอง,ข้าราชการ,นักการตลาด รวมถึงกระทรวงวัฒนธรรม ก็จำเป็นต้องดู เพื่อให้เข้าถึงปัญหา และหาทางแก้ปัญหาได้ดีขึ้น วิธีการแก้ปัญหาไม่ใช่หน้าที่ของผู้กำกับ แต่เป็นหน้าที่ของู้ใหญ่ทุกคน แต่นำเสนอแบบรอบด้าน เป้นโจททย์ใหม่ ไม่ได้อยากส่งเสริมความดีแบบเบ็ดเสร็จ