วายร้ายที่แต่งกายคล้ายกองกำลังตอลิบาน ขู่จะปิดโรงเรียนของเด็กๆ ทำให้ จิยา ครูสาวที่ได้รับการถ่ายทอดวิชานินจา จากบิดา ลุกขึ้นมาปราบผู้ก่อการร้ายด้วยการเปลี่ยนปากกาและตำราในห้องเรียนให้ กลายเป็นอาวุธจู่โจมที่ทรงประสิทธิภาพ คือเรื่องราวสนุกสสานของ Burka Avenger แอนิเมชั่นซูเปอร์ฮีโร่เรื่องแรกของประเทศปากีสถาน แต่หากในความเป็นจริงแล้ว สตรีในปากีสถานยังไม่ได้รับการปกป้องสิทธิทางการศึกษา เหมือนในการ์ตูน เมื่อโรงเรียนนับร้อยถูกกลุ่มตาลิบันเผาทำลายเพียงเพราะสอนหนังสือให้กับเด็กผู้หญิง
Burka Avenger เป็นผลงานการผลิตของ ฮารูน ราชิด ป็อปสตาร์ชื่อดังของปากีสถาน ที่นำทุนส่วนตัวและเงินบริจาคของผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม มาสร้างการ์ตูนที่ออกแบบด้วยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์กราฟฟิคที่ทันสมัย และพากย์เสียงในภาษาอูรดู ภาษาราชการของปากีสถานและอินเดีย เพื่อให้ผลงานเข้าถึงเด็กๆ อย่างแพร่หลาย ทั้งเนื้อหาที่สนุกสานและเป็นแบบอย่างด้านคุณธรรม ให้บทเรียนเรื่องการปกป้องสิ่งแวดล้อมและการเคารพความแตกต่างของเพื่อนมนุษย์ ซึ่งท้าทายแนวคิดของตอลิบาน ที่ปราบปรามชนกลุ่มน้อยต่างศาสนาอย่างต่อเนื่อง
แต่การที่ฮีโร่หญิงของเรื่องปิดบังตัวตนด้วยการสวมบุรก้า ชุดคลุมกายของสตรีมุสลิมระหว่างต่อสู้กับเหล่าร้าย ทำให้นักวิเคราะห์สื่อของปากีสถานมองว่าเป็นการทำลายคุณค่าทางวัฒนธรรมของสังคม ซึ่ง ฮารูน ราชิด กล่าวว่าการแต่งกายเพื่อซ่อนเร้นตัวตนพบได้ทั่วไปในซูเปอร์ฮีโร่ของตะวันตก ซึ่งการให้นางเอกสวมบุรก้า เท่ากับเป็นการสร้างเอกลักษณ์ให้กับยอดมนุษย์จากดินแดนตะวันออกกลาง
Burka Avenger มีทั้งหมด 13 ตอน มีกำหนดออกอากาศต้นเดือนหน้า ถูกนำมาฉายในห้องเรียนสำหรับเด็กกำพร้าในกรุงอิสลามาบัดได้ชมกันก่อน เด็กๆ ต่างชื่นชอบในความสนุกสานของการ์ตูน โดยเฉพาะ ซาเมีย แนเอม เด็กหญิงวัย 10 ปีที่ชื่นชอบนางเอกผู้ต่อสู้เพื่อปกป้องการศึกษาของเด็กๆ ซึ่งบทบาทเช่นนี้ทำให้หลายคนนึกถึง มาลาลา ยูซาฟไซ เด็กสาวผู้รอดชีวิตอย่างปาฏิหาริย์หลังถูกกลุ่มตอลิบานยิงที่ศีรษะ เนื่องจากเธอเป็นที่รู้จักของชาวโลกจากการประท้วงกฏของกลุ่มตอลิบาน ที่ห้ามสตรีเข้ารับการศึกษา ซึ่งการเคลื่อนไหวของเธอส่งผลให้สิทธิการศึกษาของสตรีในปากีสถานได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก