<"">
"กรีนพีซ" จี้ปตท. เปิดเผยข้อมูล "ผลกระทบ" หลังฉีดสารเคมีขจัดคราบน้ำมัน ร้องรัฐบาลทบทวนนโยบายให้สัมปทานเอกชนขุดเจาะน้ำมัน หวั่นเกิดเหตุซ้ำ
นายพลาย ภิรมย์ ย์ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า จากการที่ทีมงานกรีนพีซ ได้ลงพื้นที่สังเกตการณ์ การขจัดคราบน้ำมัน บริเวณอ่าวพร้าว จ.ระยอง เมื่อวานนี้ (30ก.ค.56) สะท้อนให้เห็นถึงมาตรการ การเตรียมความพร้อมในการแก้ไขเมื่อเกิดปัญหาของบริษัทระดับประเทศ และระดับโลก ว่ายังมีไม่มากพอ ตลอดจนการไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลที่ประชาชนจำเป็นต้องรับรู้อย่างตรงไปตรงมา เช่น การประเมิน และควบคุมสถานการณ์, แนวทางการแก้ไข รวมถึงสารเคมีที่ใช้ รวมไปถึง "ผลกระทบ" ที่จะเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย หลังจากการใช้สารเคมีพ่นอย่างชัดเจนด้วย
"จะต้องไม่พูดว่าไม่มีผลกระทบ เพราะมีอยู่แล้ว ซึ่งซุกอยู่ใต้ทะเล สารเคมีพ่นลงไปเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ง่าย แต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เพราะน้ำมันที่ถูกทำให้แตกตัว จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนละลายในน้ำ ย่อมมีสารพิษเพิ่มขึ้น ขณะส่วนที่ตกตะกอนใต้ทะเล จะกระทบต่อระบบนิเวศ และห่วงโซ่อาหารอย่างแน่นอน เนื่องจาก จุดที่เกิดเหตุตื้น แลัใกล้ฝั่งเพียง 20 กิโลเมตรเท่านั้น" นายพลาย กล่าว
ทั้งนี้ ยังไม่สามารถระบุได้ว่า ความเสียหายมีมากน้อยแค่ไหน หรือต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูพื้นที่นานเท่าใด เนื่องจากความเสียหาย จะมีทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ดังนั้น จำเป็นต้องสำรวจความเสียหายทุกส่วน ทั้งระบบนิเวศ เช่น คุณภาพน้ำ, ปะการัง, สัตว์น้ำ และในด้านสังคม และเศรษฐกิจท้องถิ่นว่า ชาวประมงพื้นบ้าน, การท่องเที่ยว และวิถีชีวิตของประชาชนที่นั่น จะได้รับผลกระทบอย่างไร ก่อนจะกำหนดแนวทางในการฟื้นฟูได้อย่างถูกต้อง และตรงจุด
นอกจากนี้ ยังต้องการให้มีรัฐบาลทบทวนนโยบาย การให้สัมปทานเอกชน ขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทย เนื่องจากไม่มั่นใจว่า จะไม่เกิดเหตุการณ์ในครั้งนี้อีก เนื่องจากในรอบ 30 ปี มีเหตุการณ์น้ำมันรั่วมากว่า 200 ครั้ง แต่ไม่รุนแรงเท่าครั้งนี้ ตลอดจนนโยบายในการวางมาตรการป้องกัน, แก้ไข และฟื้นฟูให้ชัดเจนมากกว่านี้
ภาพจาก www.greenpeace.org/seasia/th/photosvideos/photos/PTT-oil-spills/