ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ข้อมูลการขจัดคราบน้ำมันขาดการบูรณาการ

สังคม
1 ส.ค. 56
04:58
184
Logo Thai PBS
ข้อมูลการขจัดคราบน้ำมันขาดการบูรณาการ

นอกเหนือไปจากความพยายามในการกำจัดคราบน้ำมันดิบที่รั่วไหลออกมาอย่างต่อเนื่องของหลายภาคส่วน สิ่งสำคัญที่สร้างความสับสนถึงความคืบหน้าในการดำเนินการ คือการให้ข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกันของหลายหน่วยงาน โดยกลุ่มนักวิชาการหลายกลุ่ม ยังคงกังวลถึงวิธีการ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ขณะที่หน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงาน ยังให้ข้อมูลที่ไม่สอดรับกัน

วันนี้ (1 ส.ค.) นับเป็นวันที่ 5 แล้ว หลังจากเมื่อวันเสาร์ที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา ท่อรับน้ำมันดิบกลางทะเลของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด มหาชน หรือ พีทีทีซีจี เกิดรั่วไหล ทำให้น้ำมันดิบไหลลงทะเล ห่างจากฝั่งทะเลด้าน จังหวัดระยอง 20 ไมล์ทะเล และส่งผลกระทบอย่างหนักต่อ อ่าวพร้าว ของเกาะเสม็ดจังหวัดระยอง

จนถึงวันนี้ (1 ส.ค.) ข้อมูลเกี่ยวกับความคืบหน้ายังคงขาดความชัดเจนและการบูรณาการร่วมกัน โดยกรมควบคุมมลพิษ ออกมาให้ข้อมูลผ่านสื่อมวลชนหลายแขนงว่า การดำเนินการกำจัดคราบน้ำมันในขณะนี้เดินหน้าไปแล้วร้อยละ 70 หากสังเกตดูด้วยตาเปล่า เทียบกับในระยะ 1-2 วันแรก ต้องยอมรับว่า ในขณะนี้ คราบน้ำมันลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ คาดการณ์ว่า น่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 วัน กับอีก 1 คืน จึงจะเก็บกวาดคราบน้ำมันได้เรียบร้อยในระดับหนึ่ง และเมื่อเก็บน้ำมันในน้ำหมดแล้ว ต่อไปก็จะทำความสะอาดชายหาด ทรายและโขดหิน

ขณะที่ นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เปิดเผยถึงสถานการณ์ในทะเลฝั่งอ่าวไทย โดยภาพถ่ายดาวเทียม โดยระบุว่า แม้คราบน้ำมันที่มีลักษณะเป็นคราบหนา ซึ่งประเมินว่า ปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลออกมานั้น ไม่น่าจะเกิน 100 ตัน จะมีปริมาณลดน้อยลง แต่จากการสังเกตจะพบว่า มีคราบน้ำมันลักษณะเป็นฟิล์มน้ำมัน กระจายตัวออกจากบริเวณอ่าวพร้าว ซึ่งเป็นจุดหลักที่ได้รับผลกระทบ

จากภาพถ่าย พบฟิล์มน้ำมันบริเวณเขตอุทยานแหลมหญ้า รวมถึงอ่าวอื่นๆ ที่อยู่ถัดมาจากอ่าวพร้าว เช่น แหลมถ้ำ แหลมน้อยหน่า และท่าเรือเกาะเสม็ด ซึ่งคราบฟิล์มบางๆ นี้ เป็นผลมาจากอิทธิพลของกระแสลมและกระแสน้ำ รวมถึงฝนที่ตกลงมา ซึ่งหลังจากนี้ ยังต้องจับตาสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ผลกระทบ และวิธีการในการกำจัดคราบเหล่านี้ให้หมดไป

ข้อมูลนี้ถูกนำเสนอผ่านสื่อมวลชนหลายแขนง จนนำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลของ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ออกมาระบุว่า ในอ่าวพร้าวขณะนี้ เหลือเพียงคราบน้ำมันดิบตามโขดหินเป็นช่วงๆ และยังระบุด้วยว่า คราบน้ำมันที่เป็นฟิล์มบางๆ ที่เห็นจากภาพถ่ายทางอากาศนั้น ไม่ใช่คราบน้ำมันดิบ

เช่นเดียวกับที่ นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พีทีทีจีซี ได้ออกมาระบุว่า ได้หารือกับนายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับฟิล์มน้ำมันก่อนหน้านี้ โดยระบุว่า จากการหารือพบว่า ฟิล์มน้ำมันเหล่านี้ จะหายไปเองเมื่อรับความร้อนจากแสงแดด พร้อมทั้งอ้างว่า บริษัท ได้สำรวจบริเวณอยู่ในภาพถ่าย ไม่พบร่องรอยฟิล์มน้ำมัน จึงเชื่อว่าส่วนหนึ่งของภาพถ่ายที่เห็น เป็นสีเทาดำมาจากเงาสะท้อน ซึ่งเป็นเทคนิคที่เกิดขึ้นเวลาถ่ายภาพ

ขณะที่ผลกระทบที่จะเกิดกับระบบนิเวศทางทะเล ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว นักวิชาการหลายภาคส่วนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ยังต้องใช้เวลาในการประเมินสถานการณ์ต่อไป แต่เบื้องต้นมีการเปิดเผยข้อมูลว่า ได้มีการส่งนักประดาน้ำลงไปสำรวจปะการัง และยังไม่พบความเสียหาย

ข้อมูลนี้ สวนทางกับ นายสุเมธ สายทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ที่ออกมาเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ดำน้ำสำรวจแนวปะการังที่อยู่บริเวณอ่าวพร้าว และพบว่า คราบของน้ำมันดิบได้เกาะติดตามต้นปะการัง จึงได้เก็บตัวอย่างปะการังที่ปนเปื้อนส่งให้นักวิชาการที่เกี่ยวข้องตรวจพิสูจน์ จากนั้นจะนำผลการตรวจแจ้งให้กับอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติและพันธุ์พืช ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป เบื้องต้นได้เข้าแจ้งความเอาผิดกับ บริษัท พีทีทีจีซีแล้ว ในข้อหา พ.ร.บ.เปลี่ยนแปลงสภาพหิน ดิน ทราย ซึ่งเป็น พ.ร.บ.ของกรมอุทยานฯ

นอกจากนี้ยังพบว่า มีปัญหาเกี่ยวกับความห่วงใยในการใช้สารเคมีกำจัดคราบน้ำมัน ซึ่งหน่วยงานรัฐได้ออกมายืนยันว่า ได้ดำเนินการตามมาตรฐานสากล ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก แต่ก็ยังมีข้อสังเกตจากนักวิทยาศาสตร์ที่เรียกร้องให้ มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สารเคมี รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหลังจากนี้ เพื่อวางแผนรองรับสถานการณ์ในอนาคต พร้อมกันนี้ ยังมีการยกตัวอย่างด้วยว่า สารเคมีกำจัดคราบน้ำมัน เคยก่อปัญหามาแล้ว เมื่อครั้งที่เกิดน้ำมันรั่วในอ่ายเม็กซิโกเมื่อ 3 ปีก่อน (พ.ศ. 2553)โดยส่งผลกระทบต่อบุคคล ทั้งผิวหนังลอก และสเปิร์มไม่แข็งแรง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง