<"">
สภาฯ ถกนิรโทษกรรมวันที่ 2 "บุญจง วงไตรรัตน์" ชี้นายกรัฐมนตรี เป็นคนเดียวแก้ปัญหาประเทศได้ แนะถอนร่างพ.ร.บ.ออก เชื่อ หากประกาศใช้ เพิ่มความขัดแย้งในสังคม
วันนี้ (8ส.ค.56) เวลาประมาณ 10.57 น. นายเจริญ จรรโกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เริ่มเปิดการอภิปรายร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมต่อจากเมื่อวานนี้ (7ส.ค.56) หลังจากที่ส.ส.จากทั้งรัฐบาล และฝ่ายค้าน ลุกขึ้นกล่าวถึงปัญหาความเดือดร้อนของปชช.เป็นเวลานานกว่า 1 ชม.
โดยการประชุมเริ่มต้นขึ้น ด้วยการอภิปรายของพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย รุบว่า ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะไม่ช่วยให้สังคมมีความปรองดอง แต่จะทำให้เกิดความแตกแยกมากขึ้น พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ในเมื่อรัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาในสังคมได้อย่างครบถ้วน เหตุใดต้องนำพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้ามาพิจารณา ซึ่งเสี่ยงต่อการทำให้บ้านเมืองเกิดปัญหา
นายบุญจงได้ยกเหตุผล ไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เช่น กฎหมายฉบับนี้จะทำลายอำนาจอธิปไตย, จะทำให้สังคมยึดการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง รวมถึงเชื่อว่า ผู้เสนอร่างพ.ร.บ.นั้นมีส่วนได้ส่วนเสีย
นายบุญจง ยังระบุว่า แม้ผู้เสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมต้องการให้เกิดความปรองดองในสังคม แต่บรรยากาศของการพิจารณากลับมีความขัดแย้ง เช่น การประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง, การปิดถนน ตลอดจนการสกัดกั้นการรับรู้การประชุม
ทั้งนี้ เห็นว่า หากไม่ต้องการให้เกิดปัญหาภายหลังการประกาศใช้พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะต้องมีการการอธิบายถึงกลุ่มผู้ได้รับประโยชน์อย่างชัดเจน เพื่อหลีกเลี่ยงการเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องของตนเอง
อย่างไรก็ตาม นายบุญจง ยืนยันว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นเพียงคนเดียวที่จะแก้ไขปัญหาในประเทศได้ โดยแนะให้นายกรัฐมนตรีถอนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมออกไป และปล่อยให้ทุกเหตุการณ์เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม พร้อมแนะนำให้รัฐบาล ทำประชามติ สอบถามความเห็นประชาชนทั่วประเทศว่า เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้หรือไม่
ขณะเดียวกัน ระหว่างการอภิปรายของนายบุญจงนั้น จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ เพื่อไทย ได้ลุกมาประท้วง 2 ครั้ง โดยระบุว่า นายบุญจงอภิปรายพาดพิงนายกรัฐมนตรี และพูดวกไปวนมา รวมถึงนายชินวัตร หาบุญพาด ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่ประท้วงในประเด็นเดียวกัน
ต่อมา นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เพื่อไทย กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ที่ผ่านประเทศไทยมีการออกกฎหมายคล้ายการนิรโทษกรรมหลายฉบับ แต่มีเพียง 2 ฉบับเท่านั้น ที่ออกเพื่อประชาชน และใช้ได้เฉพาะเหตุการณ์เท่านั้น เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลา, เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พร้อมทั้งย้ำว่า ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ ออกเพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง
ซึ่งต่างจากนายชำนิ ศักดิเศรษฐ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายคัดค้านการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะเห็นว่า จะเป็นการสร้างความขัดแย้งรอบใหม่ให้เกิดขึ้นในสังคม มากกว่าการสร้างความสามัคคีตามที่ผู้เสนอได้ระบุไว้