นักกฎหมายชี้กรณีปอท.ตรวจสอบใช้
นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ กล่าวถึงกรณีการดำเนินการของ ปอท.โดยเห็นว่า หาก ปอท.ต้องการทำการตรวจสอบโปรแกรมแชทออนไลน์ จะต้องขอคำสั่งศาลอาญาเท่านั้น เพราะการดักจับข้อความที่ส่งผ่านไลน์ หากไม่มีการขอคำสั่งทางศาล แล้วใช้อำนาจอื่นๆ เช่น พ.ร.บ.ความมั่นคง หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่สามารถดำเนินการได้
เพราะจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 8 ที่ระบุว่า ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อดักรับไว้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น ที่อยู่ระหว่างส่งในระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมิได้มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อให้บุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์ได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ ผู้ที่ออกคำสั่งจะมีความผิดตามมาตรา 25 ที่ระบุไว้ว่า ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้อ้างและรับฟังเป็นพยานหลักฐานตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมาย ว่าด้วยการสืบพยานได้ แต่ต้องเป็นชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจมีคำมั่นสัญญาขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบประการอื่น
ขณะที่นายวันชัย สอนศิริ ทนายความ และนักพูดชื่อดัง กล่าวว่าหน่วยงานของรัฐไม่มีสิทธิ์จับจ้อง มองดู หรือข่มขู่คุกคามประชาชน เพราะถือเป็นการปิดปากประชาชนในการที่จะพูดคุย และแสดงความคิดเห็น ซึ่งการที่ ปอท. จะเข้าไปดักฟัง หรือจับจ้อง ถือเป็นการละเมิดสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ ที่ระบุให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และในการสื่อสารต่าง ๆ ได้ แต่ต้องไม่ละเมิดต่อกฎหมาย ไม่กระทบกับสิทธิ์ของบุคคลอื่น และไม่ขัดต่อต่อศีลธรรมอันดี
ซึ่งหากเป็นการพูดจาดูหมิ่นใส่ร้ายด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปล่อยข่าวที่กระทบต่อความมั่งคงของประเทศ บุคคลหรือหน่วยงานใดก็ตามที่ได้รับความเสียหายก็มีสิทธิ์ฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมาย
พร้อมกันนี้ นายวันชัย ยังกล่าวด้วยว่า กรณีนี้เป็นความผิดทั้งทางแพ่ง และอาญา ซึ่งหากบุคคลใดได้รับผลกระทบ สามารถดำเนินการฟ้องร้องได้ด้วยตนเอง หรือร้องเรียนผ่านหน่วยงาน เช่น สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน
สำหรับกรณีการตรวจสอบเครือข่ายสังคมออนไลน์ในต่างประเทศนั้น ในประเทศจีน นอกจากกฎหมายข้อบังคับ รวมทั้งมีการบล๊อกเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย ที่ใช้กันแพร่หลายระดับโลกกว่าพันรายการ ซึ่งรวมถึงเฟซบุ๊ก ยูทูป กูเกิล และทวิตเตอร์ โดยอ้างเหตุผลเรื่องของความมั่นคง
นอกจากสังคมออนไลน์แล้วเมื่อ 3 ปีก่อน ซึ่งเทคโนโลยีสมาร์ทโฟน เช่น แบล็คเบอร์รี่กำลังได้รับความนิยม ทั้งสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ , อินเดีย , อินโดนีเซีย, เลบานอน และ ซาอุดิอาระเบีย สั่งห้ามใช้งาน โดยอ้างเหตุผลความมั่นคงของประเทศ