หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางป้องกันการพนันในเด็ก-เยาวชน
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เลขาธิการมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ระบุงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า การพนันสร้างผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจ และสังคมอย่างชัดเจนรุนแรง โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชนที่หากมีประสบการณ์เกี่ยวกับการพนัน จะรับผลกระทบขณะกำลังเติบโตไปสู่วัยรุ่น เด็กจะกลายเป็นคนที่ชอบเสี่ยงโชค เกิดภาวะเสพติดการพนัน ซึ่งเป็นบ่อเกิดของอาชญากรรม ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหาแนวทางป้องกันอย่างเร่งด่วน
สาเหตุหลักที่ทำให้เด็ก-เยาวชนเข้าถึงการพนันได้ง่าย เนื่องจากกฎหมายการพนัน ปี 2478 ซึ่งใช้มานานว่า 80 ปี ไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาในปัจจุบัน การบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ และภาครัฐไม่มีนโยบายหรือยุทธศาสตร์จัดการผลกระทบจากการพนัน รวมถึงคำนิยามจัดแบ่งประเภทหรือชนิดการพนันยังล้าสมัย นอกจากนี้การให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจในการอนุมัติใบอนุญาตให้มีการเล่นพนันถูกกฎหมาย ซึ่งไม่มีรายละเอียดชัดเจน จึงเสนอให้ปรับแก้กฎหมายการพนันกำหนดโทษคนที่ทำความผิดออกเป็น 4 กลุ่มคือ เจ้ามือ, ผู้เล่น, ผู้รับใบอนุญาต และเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะผู้รับใบอนุญาตและเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องได้รับโทษในอัตราสูงสุด และเสนอว่าควรเปลี่ยนแปลงการลงโทษเด็กและเยาวชน ไม่ควรให้จำคุก แต่ควรเป็นมาตรการพิเศษ เช่น การให้ความรู้ หรือ ทำงานให้สังคม
นายพงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนสังคมและนโยบายสาธารณะเพื่อลดปัญหาการพนัน มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ พบสถิติในครึ่งปีแรกของปี 2556 มีจำนวนคดีการพนันทั่วไปและการพนันสลากกินรวบ 3,988 คดี สะท้อนการบังคับใช้กฎหมายยังไม่มีประสิทธิภาพ และยังแสดงความเป็นห่วงในร่างกฎหมายการพนัน ที่เสนอโดยกระทรวงมหาดไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เนื่องจากไม่มีการกำหนดนิยามที่ชัดเจน บทลงโทษที่เหมาะสมทันต่อสถานการณ์ ที่สำคัญไม่มีการระบุถึงการป้องกันเด็กและเยาวชนจากการพนัน