ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เกษตรกรยื่นหนังสือค้านนำเข้าเนื้อ-เครื่องในโคจากสหรัฐฯ

เศรษฐกิจ
17 เม.ย. 68
12:15
222
Logo Thai PBS
เกษตรกรยื่นหนังสือค้านนำเข้าเนื้อ-เครื่องในโคจากสหรัฐฯ
อ่านให้ฟัง
03:27อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สมาคมฯ - เกษตรกรผู้เลี้ยงเนื้อโค เดินทางมาที่กระทรวงเกษตรฯ ยื่นหนังสือค้านการนำเข้าเนื้อโค-เครื่องในโคจากสหรัฐฯ ชี้ยิ่งซ้ำเติมตลาดในประเทศ

วันนี้ (17 เม.ย.2568) สมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย และสมาชิกเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้ออีกกว่า 60 องค์กร รวมตัวกันบริเวณหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการนำเข้าเนื้อโคและเครื่องในโคจากสหรัฐฯ ตามที่ภาคเอกชนและรัฐบาลไทย จัดทำแผนไว้เพื่อยื่นข้อเสนอเจรจามาตรการทางภาษี ลดการขาดดุลการค้ากับสหรัฐฯ

นสพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย ตัวแทนสมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย สะท้อนว่า หากยิ่งนำเข้าเนื้อโคและเครื่องในโคมากขึ้น อาจกระทบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ 1.4 ล้านครัวเรือน, โคเนื้อ 9.6 ล้านตัว และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 2.8 แสนล้านบาท โดยยอมรับว่าปัจจุบันได้รับผลกระทบจากการนำเข้าเนื้อแดงและเครื่องในจากการเปิดการค้าเสรี (FTA) กับประเทศออสเตรเลีย และประเทศนิวซีแลนด์อยู่แล้ว

สมาคมฯ จึงต้องการให้ยกเลิกการนำเข้าเนื้อและเครื่องในโคจากสหรัฐฯ เพราะจะซ้ำเติมเกษตรกรในการผลิตเนื้อเกรดพรีเมี่ยม และยังขัดต่อกฎหมายไทยที่ห้ามการเลี้ยงสัตว์ด้วยสารเร่งเนื้อแดง ซึ่งสหรัฐฯ มีการใช้สารดังกล่าวในการเลี้ยงโคเนื้อ

ด้านนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยอมรับว่า หนึ่งในแผนที่จะใช้เจรจาเพื่อลดการขาดดุลการค้ากับสหรัฐฯ คือการนำเข้าเนื้อวัวและเครื่องในวัวจากสหรัฐฯ โดยยืนยันเป็นเพียงแนวคิดในการนำเข้ามาเพื่อผลิตอาหารสัตว์ ไม่ได้นำเข้ามาเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน และขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดปริมาณว่าจะเปิดให้มีการนำเข้ามากน้อยเพียงใด เป็นเพียงข้อเสนอของผู้ผลิตอาหารสัตว์ที่มีความต้องการอยู่มาก

ก่อนหน้านี้ นายสมภพ เอื้อทรงธรรม เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ระบุว่า ธุรกิจอาหารสัตว์ในประเทศไทย มีปริมาณการผลิต 21 ล้านตันต่อปี แต่ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาเติบโตราว 1.1% ต่อปีเท่านั้น เพราะข้อจำกัดด้านวัตถุดิบที่ไม่มากพอ โดยผลิตอาหารสัตว์เพื่อการส่งออกได้เพียง 2% จากผลผลิตอาหารสัตว์ทั่วโลก 1,200 ล้านตัน หากรัฐบาลมีแผนการนำเข้าถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และเครื่องในสัตว์ เพื่อใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ ก็จะส่งผลดี เพราะอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เพื่อการส่งออก มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น

ทั้งนี้ เกษตรกรผู้เลี้ยงโค จะเดินทางไปยื่นหนังสือที่พรรคเพื่อไทย เพื่อขอให้ทบทวนมาตรการนำเข้าเนื้อโคดังกล่าวในวันที่ 22 เม.ย.นี้​

อ่านข่าว : "ไข่ไก่" หน้าฟาร์ม ขึ้นแผงละ 6 บาท มีผลวันนี้ 17 เม.ย. 

“พิชัย” เผยยังไม่ได้ข้อยุติมาตรการช่วยผู้ประกอบการ ปมกำแพงภาษีสหรัฐฯ 

"พิชัย" หอบแผนนำทีมบินสหรัฐฯ เตรียมเจรจารับมือกำแพงภาษีทรัมป์ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง