นายกฯสั่งตั้งคณะกรรมการดูแลคนไทยใน
กระทรวงการต่างประเทศ เตรียมพร้อมอพยพคนไทยออกจากประเทศอียิปต์ พร้อมเรียกอุปทูตของสถานทูตอียิปต์ในประเทศไทยเข้าพบเพื่อหารือถึงสถานการณ์ในอียิปต์และคาดว่าวันนี้ (16 ส.ค.) จะเกิดความรุนแรงในประเทศอียิปต์ขึ้นอีก เนื่องจากกลุ่มภราดรภาพมุสลิมเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มูร์ซี ออกมาชุมนุมครั้งใหญ่ ท่ามกลางความวิตกของนานาชาติที่ประกาศเตือนพลเมืองของตัวเองให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปอียิปต์ พร้อมประณามรัฐบาลที่ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม
กลุ่มผู้สนับสนุนนายโมฮัมเหม็ด มูร์ซี อดีตประธานาธิบดีอียิปต์ ในเมือง"อิสไมเลีย" ไม่สนใจการประกาศใช้เคอร์ฟิวของรัฐบาล ที่ห้ามประชาชนออกนอกเคหะสถาน ตั้งแต่เวลา 19.00 - 06.00 น. ผู้ประท้วงกลุ่มหนึ่งออกไปชุมนุมใกล้กับสุเหร่าในตอนกลางคืน และปะทะกับตำรวจที่พยายามสลายการชุมนุม
ส่วนบรรยากาศช่วงเช้าในกรุงไคโร สถานการณ์ยังเงียบสงบ แต่คาดว่าในช่วงเย็นน่าจะเกิดความรุนแรงขึ้นอีก เนื่องจากกลุ่มภราดรภาพมุสลิมซึ่งเป็นแกนนำการประท้วงเรียกร้องให้ประชาชนที่สนับสนุนนายมูร์ซีออกไปรวมตัวกันอีกครั้ง โดยเรียกว่า"วันศุกร์แห่งความโกรธแค้น" ซึ่งเป็นวลีเดียวกับที่ทางกลุ่มเคยใช้ในการขับไล่นายฮอสนี มูบารัค อดีตประธานาธิบดีเมื่อ 2 ปีก่อน
ความรุนแรงระลอกใหม่เกิดขึ้นเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (14 ส.ค.) เมื่อรัฐบาลตัดสินใจใช้กำลังสลายการชุมนุมของกลุ่มที่สนับสนุนนายมูร์ซีในกรุงไคโร ซึ่งมี 2 จุดใหญ่ ๆ โดยมีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม 638 คน บาดเจ็บ 3,994 คน
ขณะที่กลุ่มภราดรภาพมุสลิมของนายมูร์ซี ยืนยันว่า ยอดผู้เสียชีวิตน่าจะสูงกว่า 2,000 คน ในจำนวนผู้เสียชีวิตมีสื่อมวลชนรวมอยู่ด้วย 3 คน ได้แก่นายมิค ดีน ช่างภาพชาวอังกฤษอายุ 61 ปี ของสถานีโทรทัศน์สกายนิวส์ น.ส.ฮาบิบา อาห์เหม็ด เอลาซิส ผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์"กัลฟ์ นิวส์" อายุ 26 ปี และนายอาเหม็ด อับเดล กาหวัด นักเขียนของหนังสือพิมพ์"อัล อัคบาร์"
หลังเกิดเหตุรัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 เดือน พร้อมมีคำสั่งให้ตำรวจใช้กระสุนจริงได้ ในกรณีที่มีการโจมตีสถานที่ราชการ ขณะที่นานาชาติต่างประณามรัฐบาลอียิปต์ที่ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม
นายซูซิโล่ บัมบัง ยุดโดโยโน่ ประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ในอียิปต์ โดยหวังว่าจะไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก การใช้อาวุธและกำลังทหารกับผู้ประท้วง ถือเป็นสิ่งที่ขัดแย้งต่อคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายในอียิปต์ยุติการใช้ความรุนแรงและมีความอดทนอดกลั้น ขณะเดียวกันได้แสดงความเสียใจต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบและการสูญเสียชีวิต
ขณะที่นายทายยิป เออร์โดกัน นายกรัฐมนตรีของตุรกี เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงเข้าแทรกแซงในอียิปต์ทันที โดยเห็นว่าการกระทำของรัฐบาลอียิปต์คือการสังหารหมู่ในวันจันทร์หน้า (19 ส.ค.) ประเทศสมาชิกสหภาพยุโร หรือ อียู 28 ประเทศ จะจัดการประชุมร่วมกันเพื่อประเมินสถานการณ์และท่าทีของอียู
ส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศติดตามสถานการณ์ในอียิปต์อย่างใกล้ชิด และตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลคนไทยในอียิปต์
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ยืนยันและให้ความมั่นใจในการดูแลคนไทยในอียิปต์ เนื่องจากทางกระทรวงมีประสบการณ์การอพยพคนไทยในซีเรียมาแล้ว ซึ่งเหตุการณ์ในซีเรียมีความรุนแรงมากกว่าอียิปต์ พร้อมฝากบอกญาติว่าไม่ต้องกังวล รัฐบาลไทยได้สำรองเงินเพื่อช่วยเหลือในการอพยพอย่างเต็มที่ แต่หากคนไทยต้องการอพยพในขณะนี้ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง
ขณะเดียวกันทางกระทรวงได้ตั้งวอร์รูมที่กรมการกงสุลเพื่อประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา รวมถึงวันเสาร์และ-อาทิตย์ด้วย สามารถติดต่อสอบถามได้ที่หมายเลข 02-575-1047 ถึง 9 ได้ตั้งแต่ 08.00 - 24.00 FREE น.หรือสอบถามไปยังสถานทูตไทยในกรุงไคโรที่หมายเลข +20 10 1940 1243
เมื่อช่วงเย็น มีการประชุมของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องที่กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วย กระทรวงแรงงาน,กระทรวงศึกษาธิการ,กระทรวงสาธารณสุข,กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพอากาศและบริษัทการบินไทย เป็นต้น และในเวลา 17.30 น.นายสุรพงษ์ได้เรียกอุปทูตของสถานทูตอียิปต์ในประเทศไทยเข้าพบเพื่อหารือถึงสถานการณ์ในอียิปต์