โครงการศูนย์พิทักษ์สันติ เพื่อควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย 3 จ.ชายแดนใต้
พยานและวัตถุพยาน ถือเป็นส่วนสำคัญในการคลี่คลายคดี ซึ่งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กระบวนการดังกล่าวถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างมาก ซึ่งนอกจากนิติวิทยาศาสตร์ที่ถูกนำมาใช้ การรวบรวมเป็นศูนย์ข้อมูลก็เป็นสิ่งที่หน่วยงานในพื้นที่กำลังนำมาบูรณาการร่วมกัน
ศูนย์พิทักษ์สันติ เป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างของ "ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้" หรือ ศชต.เป็นศูนย์ควบคุมตัวและสอบปากคำบุคคลต้องสงสัย ที่ถูกควบคุม ตามพระราชกำหนดบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพื่อซักถาม และรวบรวมพยานหลักฐานก่อนขยายผล
ศูนย์พิทักษ์สันติแห่งนี้ จะเป็นเพียงการควบคุมผู้ต้องสงสัยเท่านั้น ทุกคนสามารถดำเนินชีวิตประจำวัน รวมถึงการประกอบศาสนกิจได้ตามปกติ โดยการซักถาม และควบคุมตัวจะคำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมา ศูนย์พิทักษ์สันติ เคยพบผู้ต้องสงสัยมาแล้ว 2,483 คน ในจำนวนนี้มีการดำเนินคดีร้อยละ25 แต่ตอนนี้ควบคุมเหลือเพียง 4 ราย ตามข้อหาของศาลจังหวัดปัตตานี
ไม่เพียงแต่การควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย แต่กระบวนการหาหลักฐานก็เป็นสิ่งสำคัญ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะกระบวนการด้านนิติวิทยาศาสตร์
ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 จึงถูกตั้งขึ้นมาเพื่อนำนิติวิทยาศาสตร์มาช่วยคลี่คลายคดี เช่น การตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ ตรวจพิสูจน์ร่องรอยเครื่องมือ ตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ และเชื่อมโยงคดี ด้านวัตถุพยาน สถานที่เกิดเหตุ และประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 ยังได้จัดทำข้อมูลทางนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีฐานข้อมูลทางดีเอ็นเอ อาวุธปืน และข้อมูลลายนิ้วมือ ซึ่งการปฏิบัติงานตั้งแต่ 1 มกราคมถึง 31 กรกฎาคม 2556 มีการปฎิบัติงานมาแล้ว 15,163 ครั้ง ซึ่งในอนาคตศูนย์พิสูจน์หลักฐาน10 ได้เตรียมสร้างฐานข้อมูลเรื่องสารระเบิด
ขณะที่ในอนาคต ศชต. เตรียมให้มีการควบคุมถังแก๊ส ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้มีการระบุหมายเลขถังตั้งแต่โรงงาน เหล็กเส้น แผ่นเหล็ก ที่นำมาเป็นส่วนประกอบระเบิดได้ รวมถึงซิมโทรศัพท์ ที่อาจจะประกาศเป็นสินค้าควบคุมในอนาคต โดยน่าจะมีความชัดเจนจาก กอ.รมน. ในเดือนตุลาคมนี้