เปิดเล่มว่าที่ซีไรต์ 56 : หัวใจห้องที่ห้า หัวใจพิเศษแห่งมนุษยธรรม
จากที่เคยเห็นพันธุ์ปลาชุกชุมว่ายมาติดหลี่ อุปกรณ์คู่วิถีประมงพื้นบ้านของผู้คนริมฝั่งโขงไม่เคยขาด หากวันนี้เหลือเพียงความทรงจำผ่านตัวอักษรเท่านั้น ฝันร้ายของสายน้ำโขงกลายเป็นฝันร้ายของกวี นำมาร้อยเรียงผ่านกลอนสุภาพในบท "เพลงอพยพ ภูติผีในวาทกรรมการพัฒนา" ที่อังคาร จันทาทิพย์ เสียดสีความเจริญอย่างการสร้างเขื่อน พร้อมคำทำนายเสียดสี ว่าสุดท้ายผู้คนที่พึ่งพาสายน้ำย่อมประสบชะตากรรมไม่ต่างจากปลาที่สูญพันธุ์ ส่วนหนึ่งของกวีนิพนธ์เกือบ 50 บทใน "หัวใจห้องที่ห้า" ตีแผ่ประเด็นทางสังคมจากทุกมุมโลกอย่างเข้าใจ หวังใช้รูปแบบงานประพันธ์ที่น้อยคำ แต่สละสลวยสร้างหัวใจห้องพิเศษขึ้นมา ท่ามกลางสภาพสังคมที่สับสนวุ่นวาย
"เขียนบทกวีเป็นงานหลัก ทำแมกกาซีนเป็นงานรอง" 2 บทบาทของกวีชาวขอนแก่นวัย 39 ปี ที่ทำงานด้านสื่อสารสื่อสารมวลชนควบคู่ไปด้วย การมองโลกผ่านแว่นตาของนักข่าว และนิสัยการจดบันทึกข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ต่อยอด เป็นวัตถุดิบสำคัญที่ทำให้ผลงานกวีนิพนธ์เล่มที่ 5 ในชีวิต แตกต่างจากผลงานรวมเล่มที่ผ่านมา และเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์เป็นครั้งที่ 2
นักเขียนบางคนอาจเขียนกวีได้ทันทีที่มีอะไรมากระทบจิตใจ แต่สำหรับหัวใจห้องที่ห้าเล่มนี้กว่าจะเขียนกลอนออกมาได้แต่ละบท ต้องอาศัยการตกตะกอนข้อมูลที่มีอยู่แล้ว และจากการอ่านหนังสือหลายเล่มแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ นิทานปรัมปรา มนุษยวิทยา รวมถึงอาศัยการลงพื้นที่จริงเพื่อค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม
"การหายไปของทา" อีกบทกวีนิพนธ์ที่นำ หรือ "อื่อทา" เพลงกวีโบราณของชาวปกาเกอะญอมาเป็นลูกเล่น ผู้เขียนต้องใช้เวลาเกือบ 6 เดือน เดินทางสอบถามข้อมูลจากปราชญ์ท้องถิ่น เพื่อเรียนรู้รูปแบบกวีนิพนธ์ที่ถูกต้องตามแบบแผน อีกงานที่ท้าทายกวีเลือดอีสาน ซึ่งมองว่าการเขียนงานให้ลึกซึ้ง กินใจ ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะเรื่องฉันทลักษณ์ที่มีหลายรูปแบบ
ความผูกพันกับวิถีเกษตรตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้ผู้อ่านได้สัมผัสกลิ่นอายท้องทุ่งนา และชนบทผ่านงานเขียนของกวีผู้นี้เสมอ โดยคงน้ำเสียงประชดประชันสังคมที่เป็นเอกลักษณ์ผ่านตัวอักษร เช่น การนำเกมฟาร์มออนไลน์มาเทียบเคียง กับแรงปรารถนาความเรียบง่ายของชนชั้นกลาง
อังคาร จันทาทิพย์ มีผลงานรวมเล่มกวีนิพนธ์ชิงรางวัลมาแล้วหลายเวที ทั้งรางวัลสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ กับบทกวี "วิมานลงแดง" และ "หนทางและที่พักพิง" ขณะที่ "ความตายของสันติสุข" ที่ใช้ลิงแสม ตัวละครที่มีอยู่จริงที่ลาดตระเวนพร้อมทหารในปัตตานี คว้ารางวัลนายอินทร์อวอร์ดปี 2554 จนมาถึง "หัวใจห้องที่ห้า" ผลงานเล่มล่าสุด ที่คว้ารางวัลรวมบทกวีจากเวที "เซเว่นบุ๊กอวอร์ด" เมื่อปีที่แล้ว และยังรอชิงชัยในสนามใหญ่อย่างซีไรต์อีกด้วย