สทท. เผยม็อบสวนยางปิดถนน ไม่กระทบท่องเที่ยว
กลุ่มชาวสวนยางพารา และปาล์มน้ำมัน จ.ตรัง ยังคงชุมนุมปิดถนน บริเวณสี่แยกอันดามัน อ.ห้วยยอด เป็นวันที่ 2 ท่ามกลางการดูแลของตำรวจ ทั้งในและนอกเครื่องแบบ รวมถึงตำรวจปราบจลาจล กว่า 170 นาย เฝ้าระวังสถานการณ์
โดยมีกระแสข่าวว่ากลุ่มผู้ชุมนุมอาจเคลื่อนย้ายไปปิดล้อมที่ว่าการอำเภอห้วยยอด และสนามบินจังหวัดตรัง ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องตั้งด่านตรวจทางเข้า-ออก สนามบินอย่างเข้มงวด เช่นเดียวกับสนามบินจ.กระบี่ เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน 2 กองร้อย เฝ้าระวังบริเวณทางเข้า หลังมีรายงานว่าผู้ชุมนุมจะเคลื่อนขบวนปิดสนามบิน เพื่อกดดันรัฐบาล
นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก รองประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เผยว่าการชุมนุมปิดถนนของกลุ่มเกษตรกร กระทบต่อการเดินทางบางเส้นทาง แต่ยังไม่กระทบการท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวยังไม่ยกเลิก หรือเลื่อนการเดินทางทั้งในจ.กระบี่ และจ.ภูเก็ต แต่หากปิดสนามบินจะกระทบต่อการท่องเที่ยว
สำหรับแนวโน้มการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมช่วงบ่ายวันนี้ (4 ก.ย.2556) อาจมีการเคลื่อนขบวนไปปิดถนนสายเพชรเกษม บริเวณสามแยกกระบี่น้อย หมู่ 12 ต.กระบี่น้อย อ.เมืองกระบี่ ซึ่งห่างสนามบินกระบี่ ประมาณ 1 กิโลเมตร
ส่วนบริเวณทางเข้าสนามบินนานาชาติหาดใหญ่ จ.สงขลา ตำรวจภูธรภาค 9 วางกำลังรักษาความปลอดภัย ทางเข้า-ออก เพื่อรับสถานการณ์
จ.พัทลุง ตลอดคืนที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมยังปิดช่องจราจรบนถนนสายเพชรเกษม สายพัทลุง-ตรัง ฝั่งขาออกจากจังหวัดพัทลุง 1 ช่องจราจร และให้รถวิ่งได้ 1 ช่องจราจร
สำหรับการชุมนุมที่จ.ระยองยังคงปิดถนนสุขุมวิท หน้าศูนย์ราชการจังหวัดระยอง ต.มาบตาพุด อ.เมืองระยอง ฝั่งขาเข้าเมือง 1 ช่องจราจร และเปิดใช้ได้ 1 ช่องทาง ทำให้การจราจรติดขัดในช่วงเวลาเร่งด่วน โดยการชุมนุมจะเป็นไปตามมติเครือข่ายชาวสวนยางภาคใต้
ขณะที่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่มีการชุมนุม ซึ่งท่าทีชาวสวนยาง 17 จังหวัดภาคเหนือ เผยว่าจะรอคำตอบจากรัฐบาล เรื่องการชดเชยต้นทุนการผลิตไร่ละ 1,260 บาท รายละ 25 ไร่ โดยมีเงื่อนไขว่าไม่จำเป็นต้องเป็นชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียน
ส่วนชาวสวนยางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พอใจมาตรการช่วยเหลือปัจจัยการผลิต รายละ 1,260 บาทต่อไร่ ไม่เกินรายละ 10 ไร่ และรอผลประชุมคณะกรรมนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ในวันพรุ่งนี้ (5 ก.ย.2556) ว่าจะครอบคลุมเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์หรือไม่
ทั้งนี้ตำรวจยังวางกำลังรักษาความปลอดภัย ในอ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา เพราะเกรงว่าสถานการณ์ชุมนุมของชาวสวนในภาคใต้ อาจทำให้ชาวสวนยางภาคตะวันออกเฉียงเหนือออกมาเคลื่อนไหว
ขณะที่เกษตรอำเภอ จ.ศรีสะเกษ เตรียมเปิดลงทะเบียนชาวสวนยางรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล โดยให้ผู้นำชุมชนรับรองการเป็นเกษตรกร โดยมีผู้ปลูกยางมากกว่า 10,000 คน พื้นที่ปลูกยางกว่า 200,000 ไร่