จนถึงขณะนี้ที่ประชุมรัฐสภา ยังไม่สามารถเข้าสู่วาระการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยเรื่องที่มาของ ส.ว. ได้ เนื่องจากทันทีที่เริ่มการประชุมรัฐสภา สมาชิกรัฐสภา หรือ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่ นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ส.ส.ตรัง ขอหารือประธานในที่ประชุม หรือนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ กรณีการชุมนุมเรียกร้องแก้ปัญหาราคายางพาราของเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ แต่ประธานในที่ประชุม ไม่อนุญาต พร้อมอ้างอิงถึงวาระการพิจารณาของที่ประชุมและระบุถึงการเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันพรุ่งนี้ (5 ก.ย.) ซึ่งมีวาระกระทู้ถามสดในเรื่องเดียวกันนี้แล้ว
เป็นเหตุให้ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์หลายคนลุกขึ้นขอใช้สิทธิ์อภิปรายและประท้วง ขณะเดียวกันนายวัชระ เพชรทอง กลับลุกขึ้นประท้วงและอภิปรายพาดพิงไปถึงการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐสภา พร้อมขอเอกสารการจัดซื้อจัดจ้าง จนเหตุการณ์บานปลายอาจเป็นดุลยพินิจที่ ประธานในที่ประชุม เรียกให้ตำรวจรัฐสภาเชิญนายวัชระออกจากห้องประชุม จากนั้นก็เกิดการประท้วงและตอบโต้กันระหว่าง ส.ส.พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ นานกว่า 20 นาที สุดท้ายประธานในที่ประชุม จึงสั่งพักการประชุม เพื่อยับยั้งเหตุวุ่นวาย
สำหรับการประชุมรัฐสภาในวันนี้ (4 ก.ย.) เป็นการประชุมต่อเนื่องจากวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา และนับเป็นวันที่ 7 ของการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยวันนี้ (4 ก.ย.) จะเริ่มอภิปรายและลงมติในวาระที่ 2 ของมาตรา 5 ว่าด้วยคุณสมบัติของ ส.ว. ซึ่งถูกคาดการณ์กันว่า มาตรานี้ว่าจะใช้เวลานานพิจารณานานที่สุด เนื่องจากมีผู้สงวนคำแปรญัตติ จำนวน 102 คน อีกทั้งเนื้อหาหลักของการเลือกตั้ง ส.ว. รวมถึงเป็นเรื่องที่ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการแก้ไขคุณสมบัติของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ที่เปิดโอกาสให้บุพการี คู่สมรส หรือบุตรของ ส.ส. สามารถลงสมัคร ส.ว.ได้ รวมถึงระบุคุณสมบัติใหม่ให้ผู้ที่เคยเป็น ส.ส. สามารถลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ว.ได้ทันทีโดยไม่ต้องรอเว้นวรรค 5 ปี
แต่ก็มีรายงานว่า กรรมาธิการเสียงข้างมากของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เตรียมเสนอให้ปรับแก้ไขคุณสมบัติของร่างใหม่ โดยจะกลับไปยึดหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ทั้งที่เจตนาของร่างแก้ไขครั้งนี้ คือการกลับไปยึดหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ ปี 2540 หากแต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลประโยชน์ทางการเมือง และอาจเข้าข่ายแก้รัฐธรรมนูญ จนขัดรัฐธรรมนูญได้ จึงหวั่นเกรงผลด้านลบที่จะตามมา