หลักสูตรทักษะอาชีพ ในระบบการศึกษา
นักเรียน ร.ร.บ้านหนองไคร้ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ แบ่งหน้าที่กันทำผลิตภัณฑ์เครื่องหนังแฮนด์เมด ซึ่งเป็นหลักสูตรอาชีพที่ทางโรงเรียนใช้บูรณาการร่วมกับการเรียนการสอน ผลิตภัณฑ์ที่ทำด้วยมือทุกขั้นตอน คุณภาพชิ้นงานจึงมีความพิถีพิถัน สามารถเพิ่มมูลค่าของสินค้าจนสร้างรายได้ และทักษะอาชีพให้แก่นักเรียน
แนวทางสร้างอาชีพระหว่างเรียน เป็นแนวคิดที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เชียงใหม่ เขต 2 นำมาปรับใช้กับสถานศึกษาในพื้นที่ อ.แม่ริม, อ.แม่แตง, อ.สันทราย, อ.สะเมิง และ อ.พร้าว ซึ่งครอบครัวนักเรียนส่วนใหญ่มีพื้นฐานยากจน อัตราเด็กออกจากระบบการศึกษากลางคันมีค่อนข้างสูง ขณะที่การสอนมุ่งแต่วิชาการ เน้นสอบแข่งขันทำได้ยาก การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อช่วยสร้างทักษะอาชีพ เปิดพื้นที่เพื่อการมีงานทำ และสร้างรายได้ สำหรับเด็กกลุ่มนี้จึงมีความสำคัญ
การที่ผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายได้รับความสนใจจากประชาชน ทำให้นักเรียนเจ้าของผลงานรู้สึกภาคภูมิใจไม่น้อย นี่ถือเป็นแรงผลักดันให้นักเรียนหลายคนมีความหวังที่จะอยู่ในระบบการศึกษาต่อไป ซึ่งตัวแทนผู้ประกอบการใน จ.เชียงใหม่ เชื่อว่า แนวคิดด้านอาชีพควรเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพราะความต้องการของเด็กแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน จึงไม่ควรสร้างกรอบการศึกษาเพื่อปริญญาเพียงอย่างเดียว
ขณะที่มุมมองผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาเห็นว่า ไม่เพียงทำให้เด็กได้ทักษะอาชีพ แต่โรงเรียนต้องพยายามสอดแทรกกระบวนการคิดวิเคราะห์ในทุกขั้นตอน นอกจากจะช่วยให้เด็กคิดเป็นแล้ว ยังสร้างความเข้มแข็งเพื่อการประกอบอาชีพในอนาคตอย่างยั่งยืน
รูปแบบการปรับการเรียนการสอนที่ผ่านมาทำให้แนวโน้มนักเรียนออกกลางคันในพื้นที่ สพป.เชียงใหม่ เขต 2 ในปี 2554 และ 2555 ลดลงอย่างน่าพอใจ โดยเฉาพะในปีนี้มีมีตัวเลขนักเรียนกว่า 3,000 คน เพิ่มขึ้นในระบบการศึกษา เมื่อเปรียเทียบกับปี 2555 จาก 20,389 คน เป็น 23,295 คน