ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สำเร็จ ช่วยชีวิต "กระทิงตาบอด" จากทับลานสู่ผากระดาษ

Logo Thai PBS
สำเร็จ ช่วยชีวิต "กระทิงตาบอด" จากทับลานสู่ผากระดาษ
กรมอุทยานฯ ระดมเจ้าหน้าที่-ทีมสัตวแพทย์ ช่วยเหลือและเคลื่อนย้าย "กระทิงตาบอด" จากทับลานสู่ผากระดาษ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อปรับพฤติกรรมและรักษาให้แข็งแรงขึ้น

ทีมเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ช่วยเหลือกระทิงตัวผู้ตัวเต็มวัย อายุ 12-14 ปี น้ำหนักประมาณ 700 กิโลกรัม ดวงตาทั้งสองข้างฝ่อจนมองไม่เห็น หลังลงมาอาศัยและทำลายทรัพย์สินของราษฎรในพื้นที่หมู่ 9 ต.แก่งดินสอ จ.ปราจีนบุรี โดยเคลื่อนย้ายมาดูแลที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่ 2 (ผากระดาษ) ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ได้สำเร็จ

เหตุการณ์เริ่มต้นเมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา ชุดเคลื่อนที่เร็วเพื่อผลักดันช้างป่า รับแจ้งพบกระทิงบาดเจ็บ มีอาการตาอักเสบทั้งสองข้าง โดยเฉพาะตาซ้ายที่บวมปิดสนิท และมีลวดพันที่ขาขวา เดินวนเวียนอยู่ในบริเวณป่ายูคาลิปตัส สันนิษฐานว่าอาการบาดเจ็บดวงตาดังกล่าวเกิดจากการต่อสู้กับกระทิงตัวอื่นจนเกิดแผลติดเชื้อ​

ต่อมาได้เริ่มภารกิจจับและเคลื่อนย้ายกระทิงบาดเจ็บ ในวันนี้ (10 ม.ค.2568) โดยเวลา 11.00 น. ทีมสัตวแพทย์ได้ฉีดยาสลบ

"หลังฉีดยาสลบ กระทิงยังแข็งแรงมากจนกระโดดลงคลองน้ำตื้น ทีมงานต้องเร่งช่วยกันดึงขึ้นมาทันที เพื่อป้องกันการจมน้ำ" น.สพ.ชนัญญา กาญจนสาขา หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าช่องกล่ำบน กล่าวถึงภารกิจท้าท้ายที่ทีมงานได้ร่วมกันช่วยเหลือสัตว์ป่าบาดเจ็บตัวนี้

กระทั่งเวลา 14.00 น. ทีมงานเริ่มเคลื่อนย้ายกระทิงไปยังหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่ 2 (ผากระดาษ) จ.นครราชสีมา ซึ่งมีความพร้อมในการดูแลรักษา และเสร็จสิ้นภารกิจเมื่อเวลา 17.30 น.

นายประวัติศาสตร์​ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน กล่าวว่า​ สถานที่ของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่​ที่ 2 มีความพร้อมและสามารถให้การรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ​ โดยทีมสัตวแพทย์จะรักษาอาการบาดเจ็บและช่วยปรับพฤติกรรมของกระทิงตัวดังกล่าวให้คุ้นชินกับมนุษย์มากขึ้น เมื่อร่างกายแข็งแรงก็พร้อมจะย้ายกลับมาดูแลที่อุทยานแห่งชาติทับลานต่อไป

ทั้งนี้ นายยศวัฒน์ เธียรสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) พร้อมด้วย น.ส.วีรยา โอชะกุล ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้นำทีมปฏิบัติการร่วมกับนายประวัติศาสตร์, นายสมพร พากเพียร หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และนายฐิติ สอนสา หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าฉะเชิงเทรา

ส่วนทีมสัตวแพทย์นำโดย น.สพ.ชนัญญา กาญจนสาขา หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าช่องกล่ำบน และ น.สพ.มัชฌมณ แก้วพฤหัสชัย หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า จนภารกิจช่วยเหลือและเคลื่อนย้ายสัตว์ป่าบาดเจ็บสำเร็จ

การดำเนินการครั้งนี้​นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของทุกหน่วยงานในการอนุรักษ์และช่วยเหลือสัตว์ป่า แม้เป็นภารกิจที่ยากลำบากและเสี่ยงอันตราย

อ่านข่าว : บั้นปลายชีวิตที่ผากระดาษ "ยายมะลิ" กระทิงชรา-ตาบอด 

สายใย "โอโม่ เขาใหญ่" vs "ยายมะลิ" กระทิงชราตาบอด 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง