ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เตรียมรับมือฝนตกหนัก 19-20 ก.ย.

สังคม
18 ก.ย. 56
04:27
190
Logo Thai PBS
เตรียมรับมือฝนตกหนัก 19-20 ก.ย.

ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตรเตือนประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก รับมือฝนที่จะตกหนักวันพรุ่งนี้ (19 ก.ย.) ขณะที่ กรุงเทพมหานครระดมเครื่องสูงน้ำเตรียม พร้อมตั้งวอร์รูมเตรียมพร้อมรับสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ในวันที่ 18-19 กันยายน อิทธิพลของพายุดีเปรสชั่น อุซางิ และหย่อมความกดอากาศต่ำที่บริเวณทะเลจีนใต้ ซึ่งตอนนี้อยู่ที่บริเวณตอนใต้ของเกาะไหหลำ รวมทั้งหย่อมความกดอากาศต่ำที่บริเวณรอยต่อระหว่างประเทศบังกลาเทศและอินเดีย จะส่งผลให้เกิดร่องความกดอากาศต่ำ พาดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ซึ่งจะมีฝนตกหนักบริเวณ จ.ลพบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ จันทบุรี ตราด และสระแก้ว และในวันที่ 19-20 กันยายน พื้นที่ กทม.เกือบทั้งหมด จะมีฝนตกหนักตลอดทั้งวัน

นายฏรงค์กร สมตน ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 12 เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เตือนประชาชนในพื้นที่ลุ่มริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้เตรียมพร้อมรับมือระดับน้ำที่จะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจาก ขณะนี้ มีการระบายน้ำสู่ท้ายเขื่อนที่ 1,460 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นประมาณ 1 เมตร โดยที่บริเวณ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะสูงขึ้นประมาณ 50 เซนติเมตร แต่หากไม่มีน้ำเหนือไหลลงมาสมทบ คาดว่าระดับน้ำจะค่อยๆ ลดลง ส่วนคลองชลประทาน และคลองซอยต่างๆ นั้น ทางเขื่อนเจ้าพระยายังไม่ได้ระบายน้ำเข้า เนื่องจากระดับน้ำยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ

ขณะที่ระดับน้ำในคลองโผงเผง คลองสาขาแม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มสูงขึ้นและไหลแรง กัดเซาะตลิ่งริมคลองโผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ทรุดตัวเป็นระยะทางยาวกว่า 50 เมตร และกินพื้นที่เข้ามาด้านในเกือบ 4 เมตร ขณะที่ชาวบ้านบางส่วนเร่งย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง หลังจากน้ำในคลองโผงเผงเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนตั้งแต่ 2 วันก่อน และเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องกว่า 50 เซนติเมตร ชาวบ้านบางรายเริ่มทำสะพานไม้สะพานสำหรับเดินเข้าออกบ้านแล้ว

เช่นเดียวกับชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มริมแม่น้ำน้อยใน อ.เสนา อ.บางบาล และ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ต่างเริ่มทยอยขนย้ายทรัพย์สินขึ้นสู่ที่สูง หลังจากระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเริ่มล้นตลิ่งแล้ว โดยที่ ต.หัวเวียง อ.เสนา และ ต.วัดตะกู อ.บางบาล ระดับน้ำท่วมสูงเกือบ 1 เมตรแล้ว

ส่วนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นายอดิศักดิ์ ขันตี ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม.ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำไว้ที่สถานีสูบน้ำ คลองต่างๆ และจุดอ่อนน้ำท่วมซ้ำซากทุกแห่ง ส่วนริมเขื่อนแม่น้ำเจ้าพระยาได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ รวมทั้งนำกระสอบมาเสริมเป็นแนวชั่วคราว และจัดกระสอบสำรองไว้ในกรณีฉุกเฉิน พร้อมตั้งศูนย์ประสานงานใหญ่ 3 แห่ง รวมทั้งหน่วยเคลื่อนที่ ทำงานร่วมกับเขต 50 เขต เพื่อดำเนินการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่เมื่อเกิดน้ำท่วมขัง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง