แม้รัฐบาลจะพยายามเสนอความสำคัญของการลงทุนระบบรางภายใต้ร่างพระราชบัญญัติ 2 ล้านล้านบาท แต่นายสมประวิณ มันประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานสัมมนาวิชาการประจำปี ของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าในระยะ 1-2 ปีแรก ของการบังคับใช้อาจจะไม่เห็นผลทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นการทะยอยลงทุน แต่เป็นห่วงเรื่องของการสร้างภาระหนี้ในระยะยาว จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเกินกรอบที่วางไว้ เพราะการดำเนินงานอาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายทุกโครงการ เนื่องจากติดขัดกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้โครงการล่าช้าออกไปได้
ขณะที่ น.ส.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ รายงานผลการวิจัยเรื่อง กฎกติกาของภาครัฐกับประสิทธิภาพของตลาด ชี้ว่า แม้ในรัฐธรรมนูญให้รัฐบาลสนับสนุนระบบเสรีและเป็นธรรม แต่ปัจจุบันหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและรัฐบาล ยังคงผูกขาดเศรษฐกิจภายใต้ระบบสัมปทาน และนโยบายเศรษฐกิจ ส่งผลให้การแข่งขันไม่สมบูรณ์ ซึ่งอาจกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว ทั้งยังไม่มีความจริงจังในการดำเนินคดีตามกฎหมายกำกับทางการค้า พร้อมกันนี้เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการแทรกแซงหรือคุมราคา รวมทั้งขอให้มีกลไกตรวจสอบหน่วยงานกำกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้สัมปทานและใบอนุญาต