ยอดนักเขียน ทอม แคลนซี เสียชีวิต
แม้ไม่มีประสบการณ์ด้านจารกรรม หรือเกี่ยวข้องกับทหาร แต่ความใฝ่รู้ก็ทำให้ ทอม แคลนซี เป็นที่ยอมรับในฐานะนักเขียนนิยายที่มีข้อมูลทางการทหารที่น่าเชื่อถือ ซึ่งวันนี้ยอดนักเขียนวัย 66 ปี ได้เสียชีวิตแล้ว
การช่วยเหลือผู้บังคับบัญชาเรือดำน้ำโซเวียตผู้แปรพักตร์มาอยู่ฝั่งสหรัฐฯ, ปกป้องครอบครัว และประเทศชาติจากการโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายจากไอร์แลนด์ จนถึงการขัดขวางแผนโจมตีด้วยอาวุธปรมาณูจากกลุ่มนาซีใหม่ เหล่านี้คือวีรกรรมอันน่าตื่นเต้นของ แจ็ค ไรอัน เจ้าหน้าที่ซีไอเอผู้กลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในนิยายดังของ ทอม แคลนซี ยอดนักเขียนอเมริกันผู้สร้างแฟนนักอ่านทั่วโลกจากผลงานสืบสวนสอบสวนทางการทหารที่น่าสนใจ และเต็มไปด้วยรายละเอียดที่สมจริง
ทอม แคลนซี หลงใหลในวิศวกรรม และนาวิกศาสตร์มาตั้งแต่ยังเด็ก แม้การเป็นคนสายตาสั้นจะทำให้ความฝันในการรับใช้กองทัพต้องจบลง แต่เขาได้ใช้ความรู้ทางการทหารที่สั่งสมมานานปีสู่การเป็นนักเขียน และเป็นที่มาของ The Hunt for Red October นิยายเรื่องแรกเมื่อปี 1984 ที่สถาบันทหารเรือสหรัฐฯซื้อลิขสิทธิ์จัดจำหน่าย หลังประหลาดใจที่นักเขียนพลเรือนอย่างแคลนซีสามารถอธิบายรายละเอียดทางการทหารแทบไม่ผิดจากข้อเท็จจริง กระทั่งผลงานได้รับการยกย่องจาก โรนัล เรแกน ประธานาธิบดีในขณะนั้น ผู้เอ่ยปากชมว่าเป็นหนังสือที่น่าติดตามจนวางไม่ลง ชื่อของแคลนซีก็กลายเป็นที่จับตาของวงการวรรณกรรมสหรัฐฯมานับแต่นั้น
การวางโครงเรื่องได้อย่างน่าติดตาม ทำให้งานเขียน 17 เรื่องจาก 28 เรื่องของแคลนซีติดอันดับเบสต์เซเลอร์ ทำยอดขายรวมกันได้กว่า 100 ล้านเล่ม ความรู้ทางการทหารของเขาทำให้แคลนซีได้รับเชิญไปบรรยายให้กับกองทัพ และยังมีเพื่อนเป็นนายทหารระดับสูงมากมาย บ่อยครั้งที่เขาได้รับข้อมูลในเชิงลึกมาใช้ในการแต่งนิยาย แต่เขายืนยันว่าไม่เคยนำความลับของชาติมาเผยแพร่ แม้ในผลงานดังเรื่อง Debt of Honor ที่เล่าถึงเหตุการณ์เครื่องบินพุ่งชนตึกรัฐสภาสหรัฐฯ จะถูกมองว่าเป็นการทำนายโศกนาฏกรรม 11 กันยาก็ตาม
ผลงานของแคลนซีถูกดัดแปลงไปสร้างเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จหลายเรื่อง ส่วน Ubisoft Entertainment บริษัทเกมชื่อดังได้ซื้อลิขสิทธิ์การใช้ชื่อของแคลนซี สำหรับการพัฒนาเกมทางการทหารที่ได้แรงบันดาลใจจากงานเขียนของแคลนซีต่อมาอีกหลายภาค
ทอม แคลนซี ซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 กันยายน ในวัย 66 ปี เคยเปิดใจถึงความรู้ทางการทหารของเขามาจากการติดตามข่าวทางหนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์เหมือนคนทั่วๆ ไป และชี้ว่าทักษะทางการเขียนไม่ใช่พรสวรรค์ แต่เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยเวลา และความอุตสาหะที่จะทำให้นักเขียนคนนั้นๆ สร้างผลงานที่มีคุณค่า