ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ต่างชาติมองไทยค้างาช้างผิดกฎหมายอันดับ 1 ในโลก

สิ่งแวดล้อม
4 ต.ค. 56
04:25
1,022
Logo Thai PBS
ต่างชาติมองไทยค้างาช้างผิดกฎหมายอันดับ 1 ในโลก

เหตุผลสำคัญที่กลุ่มนักอนุรักษ์จาก 45 เมืองทั่วโลก นัดหมายเดินรณรงค์ เพื่อทวงถามรัฐบาลไทย ถึงการดำเนินการแก้ไขปัญหาการลักลอบค้างาช้าง สืบเนื่องจาก ประเทศไทย ถูกระบุว่า เป็นประเทศอันดับหนึ่งของโลกที่มีความอ่อนแอในการบังคับใช้กฎหมายและควบคุมงาช้างผิดกฎหมาย

รายงานขององค์กรฐานข้อมูลการค้างาช้างและผลิตภัณฑ์จากช้างที่ผิดกฎหมาย (Elephant Trade Information System: ETIS) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ใช้ติดตามและควบคุมสถานการณ์การค้างาช้าง ของอนุสัญญาไซเตส (CITES) ว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ระบุว่า ประเทศไทยถูกจัดให้เป็นอันดับ1ของโลกที่มีความอ่อนแอในด้านการบังคับใช้กฎหมายและควบคุมงาช้างผิดกฎหมาย นำหน้ามาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และจีน

ซึ่งข้อมูลนี้ถูกเปิดเผยก่อนหน้าการประชุมภาคีสมาชิกของอนุสัญญาไซเตสครั้งที่ 16 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยระบุว่า แม้จีนจะเป็นตลาดค้างาช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่จีนก็มีกฎหมายลงโทษอย่างรุนแรง โดยมีการลงโทษจำคุกตลอดชีวิตผู้กระทำผิดเรื่องงาช้างไปแล้วถึง 32 ราย

นอกจากนี้ ประเทศไทยเป็นเส้นทางผ่าน ไปยังตลาดอื่น ๆ และ ยังเป็นผู้บริโภคเองอีกด้วย เนื่องจาก ยังมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ยังนิยมหาซื้อผลิตภัณฑ์จากงาช้างมาสะสม หรือมอบให้ผู้หลักผู้ใหญ่เป็นของขวัญ

ปัญหาหลักจึงเป็นเพราะกฎหมายอนุรักษ์สัตว์ป่ายังไม่ได้ครอบคลุมเรื่องของช้างบ้าน ตลาดค้างาช้างและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากงาช้าง จึงยังจำหน่ายกันอย่างแพร่หลาย และยากที่จะตรวจสอบได้ว่า วัตถุดิบที่นำมาใช้ เป็นงาช้างแอฟริกา ที่ได้มาจากการเข่นฆ่าช้าง หรือ เป็นงาช้างบ้านที่ตัดในประเทศ

ขณะที่ ข้อมูลขององค์กร traffic และ กองทุนสัตว์ป่าโลก หรือ WWF ระบุว่า ในปี 2011 เจ้าหน้าที่สามารถยึดงาช้างเถื่อนได้มากกว่า 23 ตันทั่วโลก หรือ เท่ากับช้าง 2,500 ตัว ซึ่งในความเป็นจริงช้างป่าที่ถูกฆ่ามีตัวเลขที่มากกว่านี้ และคาดว่า แต่ละปี มีช้างถูกฆ่านับหมื่นตัว และส่วนมากเป็นช้างป่าจากแอฟริกา

ส่วนองค์การป่าไม้แห่งชาติ กาบอง ชี้ว่า พรานป่าฆ่าช้างไปแล้วคิดเป็น  44 - 77 % ของประชากรช้างในพื้นที่อุทยานมิงเกเบ้ ซึ่งถือเป็นบ้านของช้างป่ากว่าครึ่งในแอฟริกา ส่วนสาธารณรัฐคองโกเชื่อว่า ปัจจุบันเหลือช้างราว 7,000 - 10,000 ตัว หรือไม่ถึงร้อยละ 10 ของประชากรช้าง เมื่อเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว ขณะที่ ประเทศแทนซาเนีย เชื่อว่า แต่ละวันมีช้างถูกฆ่าถึงวันละ 67 ตัว

ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวระหว่างเปิดการประชุมไซเตส ครั้งที่ 16 ว่า ประเทศไทยจะต้องมีมาตรการสำคัญในการหยุดค้างาช้าง ด้วยการจัดการ การลักลอบนำเข้างาช้างผิดกฎหมาย การควบคุมการค้างาช้างบ้าน และ มีแผนผลักดันแก้ไขกฎหมายเพื่อยุติการค้างาช้างอย่างสิ้นเชิงตามมาตรฐานสากล

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างดำเนินการให้ร้านค้าที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากงาช้าง ทำบัญชีสินค้าจากงาช้างทั้งหมด และอนุญาตให้จำหน่ายได้เท่าที่มีในสต็อก จากนั้นจะให้หยุดการค้าขายเพื่อรอกฎหมายใหม่ที่จะแก้ไข ซึ่งจะช่วยปกป้องช้างในทุกรูปแบบทั้งช้างป่า ช้างเลี้ยงของไทย และช้างจากแอฟริกา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลไทยประกาศจุดยืนนี้ต่อสาธารณชน


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง