ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สภาปฏิรูปฯ สรุปแนวทางในการดำเนินการปฏิรูปเบื้องต้นแล้ว

การเมือง
9 ต.ค. 56
15:24
61
Logo Thai PBS
สภาปฏิรูปฯ สรุปแนวทางในการดำเนินการปฏิรูปเบื้องต้นแล้ว

สภาปฏิรูปประเทศไทยของรัฐบาล ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมือง ได้ข้อสรุปเบื้องต้นในการดำเนินการปฏิรูปแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขปรับปรุง และพัฒนาโครงสร้างในแต่ละด้าน โดยเฉพาะการปฏิรูปการเมือง ที่ยังคงความเห็นว่าควรแก้รัฐธรรมนูญ และควรมีกลไกในการนิรโทษกรรมในกับคู่ขัดแย้ง

การประชุม "เดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย พัฒนาประชาธิปไตย และ ประเทศร่วมกัน" ตามแนวคิดการจัดเวทีสภาปฏิรูปประเทศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมีนายบรรหาร ศิลปอาชา ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ 3 ด้าน เป็นประธานการประชุมในวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา มีการอภิปราย และถกเถียงกันถึงกรอบความคิดในการปฏิรูปการเมือง

เบื้องต้นที่ประชุมเห็นว่า ควรดำเนินการระยะสั้นด้วยการจัดการกับความจริง ตามข้อเสนอ คอป., การคืนความเป็นธรรมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง ตามข้อเสนอของ คอป.และเห็นควรย้ำหลักนิติธรรมในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงการเห็นพ้องที่จะขับเคลื่อนการนิรโทษกรรม ให้กับผู้ที่มีบทบาทขัดแย้งทางการเมือง แต่ยังต่างกันที่เงื่อนไข และรายละเอียด

ขณะที่การดำเนินการในระยะยาว ประกอบด้วย การออกแบบและกำหนดทิศทางของประเทศ เพื่อให้ผู้เเห็นต่างอยู่ร่วมกันได้, การกำหนดกติกาทางการเมือง ที่อาจเกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ, การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และการให้ความสำคัญกับการเมืองภาคประชาชน, การสร้างกระบวนการสร้างความปรองดองอย่างยั่งยืน และการร่วมกันกำหนดบทบาทสื่อมวลชน รวมถึงการสร้างระบบ และกลไกห้ามล่วงละเมิดสถาบันฯ

ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ข้อสรุปแนวทางการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจแล้ว ด้วยการพิจารณาจัดการทรัพยากร, การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ, การปรับโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม, การส่งเสริมการท่องเที่ยว, การส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางการลงทุน, การวางระบบจัดเก็บภาษี, การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น, การกระจายรายได้และลดความเลื่อมล้ำของประชาชน และการเตรียมความพร้อมของประเทศเพื่อสู่ประชาคมอาเซียน

ขณะที่ด้านสังคมได้ข้อสรุปที่จะพิจารณาแนวทางพัฒนาคน ทั้งด้านความรู้ ความรับผิดชอบและคุณธรรม, การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม, การสร้างความเป็นธรรมทางกฎหมาย, การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและการมีส่วนร่วมของประชาชน, การบริหารจัดการภาครัฐที่ดี โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ, การจัดระบบสวัสดิการสังคม และประเด็นเร่งด่วนเฉพาะหน้า พร้อมนำผลการศึกษาจากทุกเวที และทุกฝ่ายมาเป็นฐานในการคิด และหาคำตอบ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมร่วมกัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง